วัดที่ชาวบ้านนิยมเรียกกันว่า “วัดเหล” มีความเกี่ยวพันกับประวัติความเป็นมาของเมืองตะโกลา ซึ่งเชื่อกันว่าคือชื่อเดิมของเมืองตะกั่วป่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลักฐานที่ระบุถึงการเผยแผ่วัฒนธรรมของอินเดียมาสู่ภูมิภาคนี้ จากวัตถุโบราณมากมายที่ค้นพบ โดยเทวรูปจำลองพระนารายณ์ พระลักษมณ์ และนางสีดา ที่ถือเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ชิ้นสำคัญเลยทีเดียวสิ่งที่น่าสนใจเทวรูปพระนารายณ์จำลองและโบราณวัตถุ (ปัจจุบันองค์จริงได้เก็บรักษาไว้ ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติถลาง จังหวัดภูเก็ต) พระนารายณ์องค์นี้เป็นศิลปะอินเดียแบบปัลละวะตอนปลาย อันเป็นรูปแบบที่นำเข้ามาทางภาคใต้พร้อมกับวัฒนธรรมอินเดียในช่วง พ.ศ. 1100-1300 นอกจากนี้ยังมีชิ้นส่วนของเทวรูปต่าง ๆ เช่น พระกรซ้ายของพระลักษมณ์ ชิ้นส่วนชายผ้าทรงพระนารายณ์ และรูปศิวลึงค์ทำด้วยศิลา ซึ่งคาดว่าเป็นของชาวอินเดียที่มียศศักดิ์สูง ใช้พกติดตัวเพื่อบูชา โดยพบที่วังเวียง (ระหว่างตำบลเหลกับตำบลท่านา) ซึ่งเชื่อว่าเป็นเมืองแรกของตะกั่วป่า นอกจากนี้ยังพบเทวรูปหิน พระพุทธรูป ชิ้นส่วนโบราณวัตถุต่าง ๆ ทั้งหมดนี้เก็บรักษาอยู่ในบริเวณศาลาวัด พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น อยู่ในศาลาใกล้กุฏิเจ้าอาวาส ภายในจัดแสดงเครื่องถ้วยชามสมัยเก่า ถ้วยลายคราม โอ่ง ไห ปืน ตู้ นาฬิกา และอื่น ๆ บางส่วนชาวตะกั่วป่าและอำเภอกะปงร่วมกันบริจาคให้ทางวัดเก็บรักษาและบางส่วนจัดซื้อเพิ่มเติมจากแหล่งต่าง ๆ