วันศุกร์ที่ 29 พฤศจิกายน 2024

เลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. จุดประกายคนต่างจังหวัดอยากเลือกผู้ว่าฯ บ้าง – BBC News ไทย

  • วัชชิรานนท์ ทองเทพ
  • ผู้สื่อข่าวบีบีซีไทย

กลุ่มภาคีเครือข่ายรณรงค์เลือกตั้งผู้ว่าฯ เชียงใหม่ ได้จัดกิจกรรมการเลือกตั้งผู้ว่าฯ (จำลอง) ณ ลานประตูท่าแพ เพื่อแสดงจุดยืนสนับสนุนการเลือกตั้งผู้ว่าฯ เชียงใหม่

ที่มาของภาพ, FACEBOOK/Chamnan Chanruang

คำบรรยายภาพ,

กลุ่มภาคีเครือข่ายรณรงค์เลือกตั้งผู้ว่าฯ เชียงใหม่ ได้จัดกิจกรรมการเลือกตั้งผู้ว่าฯ (จำลอง) ณ ลานประตูท่าแพ เพื่อแสดงจุดยืนสนับสนุนการเลือกตั้งผู้ว่าฯ เชียงใหม่

รัฐประหารเมื่อ 22 พ.ค. 2557 โดย พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้หยุดยั้งกลไกประชาธิปไตยหลายด้าน ทำให้การเลือกตั้งระดับท้องถิ่นต้องชะงักไปหลายปี การเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร สมาชิกสภากรุงเทพฯ (ส.ก.) และเมืองพัทยา เป็นเงื่อนปมสุดท้ายที่รัฐบาลยอมไฟเขียวให้ประชาชนใช้สิทธิ

นอกจากนี้ การยึดอำนาจของคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติเมื่อ 8 ปีที่แล้วยังเป็นการหยุดยั้งความพยายามของภาคประชาสังคมที่ต้องการมีการปกครองด้วยตัวเองด้วยการเลือกผู้ว่าราชการจังหวัด แทนการแต่งตั้งโดยกระทรวงมหาดไทย

ทว่า นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์มองว่า ผลจากความตื่นตัวของประชาชนในการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. และ ส.ก. รวมทั้งการเลือกนายกเมืองพัทยา เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา กำลังจุดประกายให้ภาคประชาสัมคมอีกครั้งในการรื้อฟื้นและผลักดันให้การเลือกตั้งผู้ว่าการจังหวัดในต่างจังหวัดให้เกิดขึ้นได้จริง

สิ่งหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นว่าคนต่างจังหวัดอยากได้รับสิทธิในการเลือกตั้งผู้ว่าการจังหวัดของตัวเองคือ ผลการสำรวจความคิดเห็นของสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ถึง 2 ครั้งเกี่ยวกับเรื่องนี้

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

โดยครั้งแรกสำรวจเมื่อ 18-20 เม.ย. เรื่อง “คนต่างจังหวัด อยากเลือกตั้งผู้ว่าฯ ของตนเองหรือไม่” จาก 1,320 ตัวอย่างในต่างจังหวัด พบว่า กว่า 66% ระบุว่าอยากได้ผู้ว่าฯ ของตัวเอง และส่วนใหญ่เชื่อว่าจะเกิดความแตกต่างจากเดิมในการพัฒนาจังหวัด เมื่อเปรียบเทียบกับผู้ว่าฯ จากการแต่งตั้ง

ครั้งที่ 2 ระหว่าง 2-4 พ.ค. ในหัวข้อ “คนต่างจังหวัด พร้อมที่จะเลือกตั้งผู้ว่าฯ ของตนเองหรือยัง” จาก 1,316 ตัวอย่างทั่วประเทศ ยกเว้นกรุงเทพฯ พบว่า ตัวอย่างส่วนใหญ่เชื่อว่ามีความพร้อมที่จะมีผู้ว่าฯ ที่มาจากการเลือกตั้ง เช่น 33.97% ระบุว่า การได้ผู้ว่าฯ มาจากการเลือกตั้งจะสามารถตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนได้มากขึ้น ขณะที่ 20.14% ระบุว่า อยากเรียกร้องให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าฯ ในต่างจังหวัด

เชียงใหม่-ภูเก็ต- ขอนแก่น เดินหน้ารณรงค์เลือกตั้งผู้ว่า

สุดสัปดาห์ที่ผ่านมา นักกิจกรรมในต่างจังหวัดได้จัดกิจกรรมคู่ขนานกับการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. เพื่อรณรงค์เรียกร้องให้คนในต่างจังหวัดมีผู้ว่าฯ จากการเลือกตั้งแทนการแต่งตั้งโดยการบริหารส่วนกลางจากกระทรวงมหาดไทย

ภาคประชาคมจากอย่างน้อย 4 จังหวัด จัดกิจกรรมเรียกร้องการเลือกตั้งผู้ว่าฯ

– 20 พ.ค. กลุ่มราษฎรขอนแก่น ได้เข้ายื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีผ่านผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น เพื่อเรียกร้องให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศ และเรียกร้องให้ยกเลิกราชการส่วนภูมิภาค ถ่ายโอนบุคลากรและงบประมาณสู่ท้องถิ่น ซึ่งกิจกรรมดังกล่าวเป็นผลจากกระแสการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.

ที่มาของภาพ, FACEBOOK/Chamnan Chanruang

คำบรรยายภาพ,

กลุ่มภาคีเครือข่ายรณรงค์เลือกตั้งผู้ว่าฯ เชียงใหม่ ได้จัดกิจกรรมการเลือกตั้งผู้ว่าฯ (จำลอง) ณ ลานประตูท่าแพ

– คืน 22 พ.ค. ที่ผ่านมา กลุ่มราษฎรเชียงราย ได้นำมวลชนจำนวนหนึ่งจัดกิจกรรม ถือป้ายข้อความว่า “พวกเราต้องการเลือกตั้งผู้ว่าราชการ จ.เชียงราย” พร้อมการปราศรัยเรียกร้องให้มีการจัดการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดในทุกจังหวัดทั่วประเทศที่มีความพร้อม เพื่อให้เกิดการกระจายอำนาจสู่ประชาชนเช่นกัน

– วันเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. 22 พ.ค กลุ่มภาคีเครือข่ายรณรงค์เลือกตั้งผู้ว่าฯ เชียงใหม่ ได้จัดกิจกรรมการเลือกตั้งผู้ว่าฯ (จำลอง) ณ ลานประตูท่าแพ เพื่อแสดงจุดยืนสนับสนุนการเลือกตั้งผู้ว่าฯ เชียงใหม่

– “กลุ่มภูเก็ตปลดแอก” จัดกิจกรรมต่อต้านรัฐประหารเนื่องในวันครบรอบ 8 ปี รัฐประหาร และจัดกิจกรรมรณรงค์ให้ชาวภูเก็ต มาเลือกตั้งผู้ว่าฯ โดย กกต. ฝ่ายประชาชน

ศ. ดร.ธเนศวร์ เจริญเมือง อาจารย์คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในฐานะประธานภาคีเครือข่ายรณรงค์เลือกตั้งผู้ว่าฯ เชียงใหม่ บอกกับบีบีซีไทยว่าในวาระครบรอบ 8 ปีรัฐประหารและการเลือกตั้งผู้ว่า ฯ กทม. 22 พ.ค. นี้ เป็นหมุดหมายสำคัญของการกลับมาเริ่มความเคลื่อนไหวเพื่อให้ประชาชนในต่างจังหวัดตื่นตัวในเรื่องความสำคัญของการมีผู้ว่าฯ มาจากการเลือกตั้ง โดยได้หารือกับเครือข่ายภาคประชาชนในหลายพื้นที่ เช่น ในอุดรธานี อุบลราชธานี นครราชสีมา ส่วนภาคใต้ในนครศรีธรรมราชและสงขลา

ที่มาของภาพ, FACEBOOK/เลือกตั้งผู้ว่าฯ เจียงใหม่

คำบรรยายภาพ,

“คนต่างจังหวัดก็เป็นคนไทยเหมือนกัน ทำไมไม่ได้เลือกตั้งผู้ว่าฯ ” ศ.ดร.ธเนศวร์ ตั้งคำถาม

นักวิชาการรายนี้เป็นหนึ่งในผู้รณรงค์เรื่องการเลือกตั้งผู้ว่าฯ ใน จ. เชียงใหม่ มานานกว่า 20 ปี มองว่ากระแสความตื่นตัวของคนต่างจังหวัดผ่านสื่อต่าง ๆ ทั้งกระแสหลักและสื่อสังคมออนไลน์ มีให้เห็นเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะการดีเบตหรือการสัมภาษณ์ผู้ลงชิงชัยตำแหน่งผู้ว่าฯ กทม. ได้สร้างความสนใจให้กับประชาชนที่่ติดตามข่าวพร้อมกับตั้งคำถามถึงสิทธิที่พวกเขาควรจะได้ทัดเทียมกับคนในกรุงเทพฯ และ เมืองพัทยา

ขณะที่ รศ.ดร. สิริพรรณ นกสวน สวัสดี อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวกับบีบีซีไทยว่า “กระแสความต้องการ (มีการเลือกตั้งผู้ว่าฯ ในต่างจังหวัด) มีมากขึ้นจริง ๆ และการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ครั้งนี้ได้สร้างแรงบันดาลใจแก่พวกเขาแล้ว”

นอกจากนี้ยังมี กลุ่ม We’re all voters: เลือกผู้ว่าฯ ทั่วประเทศต้องเกิดขึ้นจริง ยังเคลื่อนไหวในสื่อสังคมออนไลน์อีกด้วย และรณรงค์ผ่านเว็บไซต์ Change.org เพื่อรวบรวมรายชื่อของผู้สนับสนุน โดยล่าสุดมีผู้ร่วมโครงการแล้ว 9,226 รายชื่อจากเป้าหมาย 10,000 รายชื่อ

“เป็นโจทย์ยาก แต่ต้องไปให้ถึง”

การต่อสู้ของภาคประชาสังคมในเรื่องการเรียกร้องให้มีผู้ว่าราชการจังหวัดจากการเลือกตั้งไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่ที่ผ่านมาการขับเคลื่อนในเรื่องนี้กลายเป็นการต่อสู้ในเชิงอำนาจระหว่างระบบราชการรวมศูนย์ ซึ่งมีพลังกลุ่มอนุรักษ์นิยมเป็นแนวร่วมหลัก ขณะที่กลุ่มภาคประชาสังคม นักวิชาการ นักการเมือง และภาคธุรกิจ ต้องการให้รัฐมีการกระจายอำนาจสู่ส่วนภูมิภาคและท้องถิ่นมากขึ้น

ที่มาของภาพ, FACEBOOK/เลือกตั้งผู้ว่าฯ เจียงใหม่

คำบรรยายภาพ,

ประชุมคณะทำงานรณรงค์เลือกตั้งผู้ว่าฯ เชียงใหม่ และผู้นำองค์กร เมื่อ 15 พ.ค. 2565 ที่จ. เชียงใหม่

ศ. ดร. ธเนศวร์ ทำงานเพื่อพลักดันเรื่องให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าฯ เชียงใหม่มาตั้งแต่ปี 2535 หรือกว่า 20 ปี ในขณะที่นายไมตรี จงไกรจักร นายกสมาคมประชาสังคมพังงาแห่งความสุขยอมขับเคลื่อนในการเลือกตั้งผู้ว่าฯ ที่พังงามาแล้ว 10 ปี เห็นตรงกันว่า นับตั้งแต่การทำรัฐประหารในปี 2557 เป็นต้นมา กลุ่มประชาสังคม กลุ่มปัญญาชน เยาวชน และนักกิจกรรมอ่อนแรงลงกว่าเดิมมาจากการปราบปรามกลุ่มผู้เห็นต่างทางการเมือง ขณะเดียวกันยังขาดความกระตือรือร้นการสนับสนุนจากกลุ่มนักธุรกิจ

การเข้ายึดอำนาจของ คสช. ในปี 2557 ยังทำให้กฎหมายสำคัญหลายฉบับที่เกี่ยวข้องกับการระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นอย่าง ร่าง พ.ร.บ. บริหารจังหวัดปกครองตนเอง พ.ศ. …. ซึ่งนำเสนอโดยสำนักงานคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย ต้องถูกแช่แข็งไปโดยปริยาย

ร่าง พ.ร.บ. ฉบับดังกล่าว มีสาระสำคัญคือ การเปิดโอกาสให้ประชาชนในจังหวัดที่มีความพร้อมในการจัดตั้งจังหวัดปกครองตนเองได้โดยการออกเสียงประชามติ และกำหนดให้ยกเลิกราชการส่วนภูมิภาคในจังหวัดที่จัดตั้งเป็นจังหวัดปกครองตนเอง กำหนดให้มีสภาจังหวัดปกครองตนเอง ให้มีผู้ว่าการจังหวัด ที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน และสภาพลเมืองจังหวัดปกครองตนเอง นอกจากนี้ยังให้จังหวัดมีอำนาจในการจัดสรรงบประมาณ จัดเก็บภาษีและรายได้เอง รวมทั้งการมีองค์กรตรวจสอบการทำงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในด้านต่าง ๆ เช่น การเงิน การบัญชี การใช้จ่ายงบประมาณ การจัดซื้อจัดจ้าง ประสิทธิภาพการบริหารงาน เป็นต้น

ที่มาของภาพ, Facebook/ดาวดิน สามัญชน Daodin Commoners

คำบรรยายภาพ,

เมื่อวันที่ 20 พ.ค. ราษฎรขอนแก่นทำกิจกรรมโพลล์สอบถามความคิดเห็นประชาชนในพื้นที่ศาลากลางเกี่ยวกับการเลือกตั้งฯ ผู้ว่าของตัวเอง

ศ. ดร.ธเนศวร์ ตั้งข้อสังเกตว่า ร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าว ก็สร้างความกังวลใจต่อกลุ่มผู้มีอำนาจร่วมทั้งฝ่ายหัวอนุรักษ์นิยมไม่น้อยโดยเฉพาะการใช้คำว่า “จังหวัดปกครองตนเอง” ได้กลายเป็นสิ่งที่ถูกตีความว่าจะกลายเป็นการแบ่งแยกส่วนการปกครองออกไปจนไม่กลายเป็นราชอาณาจักร

อย่างไรก็ตาม ประธานภาคีเครือข่ายรณรงค์เลือกตั้งผู้ว่าฯ เชียงใหม่ ชี้ให้เห็นว่า ระบบราชการแบบรวมศูนย์จากส่วนกลางในปัจจุบัน โดยใช้ปีกของการบริหารผ่านราชการส่วนภูมิภาค และระบบการแต่งตั้งข้าราชการโดยกระทรวงมหาดไทยที่ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนในระยะเวลาอันสั้น ไม่สามารถทำให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเรียนรู้และเข้าใจปัญหาของคนในท้องที่ได้ เพื่อตอบโจทย์ วางแผนด้านต่าง ๆ หรือแม้แต่แก้ไขปัญหาของคนในท้องถิ่นได้อย่างต่อเนื่อง

แม้ว่ามีการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในช่วงปลายปี 2546 เมื่อมีการประกาศใช้พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) สำคัญจำนวน 3 ฉบับ ได้แก่ พ.ร.บ.องค์การบริหารส่วนจังหวัด (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2546 พ.ร.บ. เทศบาล (ฉบับที่ 12) พ.ศ. 2546 และ พ.ร.บ.สภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2546 ใน ซึ่งเป็นผลพวงจากการเกิดของรัฐธรรมนูญ ฉบับประชาชน ปี 2540 ทำให้มีการเลือกตั้งส่วนท้องถิ่นโดยตรงจากประชาชน ทว่า ศ. ดร.ธเนศวร์ กลับมองกว่ายังไม่มีเปลี่ยนแปลงในเชิงอำนาจมากนัก

เขาอธิบายเพิ่มเติมว่า แม้ว่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญไปแล้ว แต่เพราะเหตุใดฝ่ายบริหารส่วนท้องถิ่นที่ได้รับการเลือกตั้งโดยตรงจากประชาชน จึงไม่มีท่าทีขัดแย้งกับผู้ว่าฯ ที่ถูกแต่งตั้งมาจากส่วนกลาง เมื่อมาพิจารณาดูรายละเอียดของกฎหมายเกี่ยวกับอำนาจในการอนุมัติโครงการต่าง ๆ ที่นำเสนอโดย อบจ. หรือ จากสภาเทศบาล จำเป็นต้องได้รับความเห็นชอบจากผู้ว่าราชการจังหวัด ในลักษณะเดียวกันกับ อบต. ที่ทุกโครงการจะต้องได้รับการอนุมัติโดยนายอำเภอ

จากสิ่งที่เรียนรู้ดังกล่าวผนวกกับกระแสการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. จึงทำให้กลุ่มภาคีเครือข่ายรณรงค์เลือกตั้งผู้ว่าฯ เชียงใหม่เริ่มหารือกับเครือข่าย 52 องค์กร เมื่อเดือน เม.ย. ในการรณรงค์ให้การศึกษาและความรู้แก่ประชาชนอีกครั้งในการเดินหน้าพลักดันให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าฯ เชียงใหม่ ร่วมกับหลายจังหวัด เพื่อหลังผลในการสะท้อนความต้องการของประชาชนและการเสนอให้เป็นวาระแห่งชาติในการเลือกตั้งทั่วไปครั้งต่อไป

รศ.ดร. สิริพรรณ บอกบีบีซีไทยว่าการเลือกตั้งผู้ว่าฯ ในต่างจังหวัด “เป็นโจทย์ยากสำหรับสังคมไทย แต่เป็นโจทย์ที่ต้องไปให้ถึงให้ได้” และเสนอ 3 ช่องทางที่สามารถทำได้ ดังนี้

  • แต่ละจังหวัดจำเป็นต้องแสดงเจตนารมณ์รวมตัวกันเสนอมาเป็น พ.ร.บ. ของตนเอง และมีการเรียกร้องความเป็นอิสระมากขึ้น ทั้งในด้านการใช้งบประมาณ อาจจะมีการนำเสนอรูปแบบว่าในพื้นที่ของตัวเองควรเป็นอย่างไร
  • ภาคประชาสังคม หรือประชาชนที่ต้องการมีผู้ว่าฯ มาจากการเลือกตั้ง ต้องขอสัญญาจากพรรคการเมือง หากมีพรรคการเมืองใดที่สนับสนุนเรื่องนี้เป็นวาระสำคัญ (single issue) จะให้คำมั่นสัญญากับพรรคการเมืองนั้นที่นำเสนอประเด็นนี้ในการเลือกตั้งทั่วไปที่กำลังจะมาถึง
  • ใช้ช่องทาง พ.ร.บ. ทำประชามติ ซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันเปิดทางให้ประชาชนในจังหวัดใดที่พร้อมเข้าชื่อเสนอ เพื่อเป็นการทดลองและทดสอบความพร้อมของสังคม

“ในส่วนพรรคการเมือง สิ่งเหล่านี้ก็จำเป็นจะต้องได้รับการนำเสนอในฐานะพรรคร่วมรัฐบาลจึงจะมีความเป็นไปได้ เพราะหากพิจารณาการแก้ไขกฎหมายต่าง ๆ ที่นำเสนอโดยพรรคฝ่ายค้าน เช่น พ.ร.บ.สุราก้าวหน้า หรือ สมรสเท่าเทียม ยังถูกตีความเป็นกฎหมายการเงินที่จำเป็นต้องให้นายกรัฐมนตรีเป็นผู้อนุมัติ” รศ.ดร. สิริพรรณ กล่าว

อย่างไรก็ตาม นักวิชาการรายนี้ระบุว่า เรื่องนี้ต้องคำนึงถึงการให้เวลาปรับตัวสำหรับข้าราชการกระทรวงมหาดไทยและนักการเมืองเช่นกัน เพราะที่ผ่านมา โครงการแบบราชการรวมศูนย์ยังให้อำนาจข้าราชการประจำรวมทั้งนักการเมืองที่เขามาดูแลกระทรวงนี้ด้วย จึงเป็นเรื่องที่ต้องประนีประนอมทางอำนาจแบบค่อยเป็นค่อยไป เพื่อให้มีการกระจายอำนาจอย่างแท้จริงไปพร้อม ๆ กัน

เธอยกตัวอย่างว่า นโยบายใดก็ตามที่พรรคการเมืองได้ให้คำมั่นสัญญาต่อประชาชนแล้ว แม้ว่าจะเป็นดูเหมือนว่าจะเป็นไปไม่ได้อย่าง ร่างพ.ร.บ.กัญชา กัญชง ที่เสนอโดยพรรคภูมิใจไทย ก็มีความพยายามให้สามารถมีผลบังคับได้จริงในรัฐบาลนี้

“อย่ากลัวว่าจะทำให้ประเทศไทยถูกแบ่งแย่งไม่เป็นอันหนึ่งเดียวกัน อย่ากลัวเรื่องคอร์รัปชัน ต้องเชื่อมั่นในการใช้วิจารณญานและการตัดสินของประชาชน” รศ.ดร. สิริพรรณ กล่าวย้ำ

เตรียมความพร้อมประชาชนไว้ก่อนมีกฎหมาย

ภาคประชาชนใน จ.พังงา รับรู้ถึงความต้องการและความจำเป็นในพื้นที่ว่าควรจะมีผู้ว่าฯ มาจากการเลือกตั้งมาตั้งแต่ปี 2554 พร้อมกับความฝันที่อยากเป็นจังหวัดจัดการตนเอง เพื่อพัฒนาบริหารจัดการทรัพยากรของคนในพื้นที่ และมีสภาจังหวัดที่มาจากประชาชน

นายไมตรี อธิบายว่า สิ่งที่ต้องการไม่ได้พูดถึงเรื่องความมั่นคง การเงินการคลัง และการระหว่างประเทศ เพราะถือว่าเป็นงานของภาคส่วนกลาง แต่ ในส่วนการจัดเก็บภาษีและการบริหารจัดการรายได้ในท้องถิ่นควรจะเป็นภารกิจของคนในพื้นที่ โดยเชื่อกว่า รายได้ของแต่ละจังหวัด 70% ควรจะสงวนไว้สำหรับการบริหารภายในจังหวัด ส่วนอีก 30% ให้ส่งเข้าส่วนกลาง ส่วนปัญหาต่าง ๆ ในพื้นที่ต้องแก้ไขและจบที่จังหวัดได้ โดยไม่ต้องส่งเรื่องทั้งหมดไปให้ทำเนียบรัฐบาลพิจารณา

ที่มาของภาพ, ไมตรี จงไกรจักร

คำบรรยายภาพ,

นายไมตรี จงไกรจักร (ขวา) นายกสมาคมประชาสังคมพังงาแห่งความสุข

ทว่า หลังรัฐประหาร 22 พ.ค. 2557 การเคลื่อนไหวในเรื่องนี้ของภาคประชาสังคมใน จ.พังงา ก็เป็นไปได้ยาก

“ถ้าใครคิดเรื่องนี้ จะเท่ากับล้มล้าง แบ่งแยกการปกครอง และถูกเรียกตัวเข้าค่ายทหาร” นายไมตรี กล่าว

อย่างไรก็ตาม การทำงานแบบประสานงานกับทุกภาคส่วนของระบบการปกครองคือสิ่งสำคัญสำหรับนักเคลื่อนไหวทางการเมืองรายนี้ ภายใต้สมาคมประชาสังคมพังงาแห่งความสุข ที่เข้ามามีส่วนร่วมกับกากำหนดแผนพัฒนา จ. พังงา และแผนแห่งความสุข จนได้งบประมาณปีละ 2 ล้านบาท ในห้วงเวลาที่นายธำรงค์ เจริญกุล ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการ จ. พังงา เพื่อจัดเวทีระดมการพัฒนาแบบไหน เรื่องใดที่จะทำให้มีความสุข มาประมวลผลเป็น 10 ยุทธศาสตร์ และคาดว่าจะสามารถเป็นลายแทงทิศทางพัฒนาจังหวัดพังงา ไปสู่ความพร้อมเลือกตั้งผู้ว่าฯ ของจังหวัด

แม้ว่าจะคนในพื้นที่มีความพร้อมในการเลือกตั้งผู้ว่าฯ แล้วก็ตาม แต่นายไมตรีกล่าวว่า จะเป็นต้องทำงานในแง่การเมืองอีกเพราะสิ่งที่สำคัญคือ การตระหนักรู้และเข้าใจของนักการเมืองในการร่วมผลักดันประเด็นนี้เป็นวาระสำคัญหนึ่งในการเลือกเลือกตั้งครั้งหน้า

“ผมคิดเป็นเรื่องหลักที่กระแสการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ครั้งนี้ที่มีความคึกคัก การหาเสียง การตื่นตัวทั้งของผู้สมัครและของประชาชนที่ติดตามข่าวสารในการเลือกตั้ง กทม. เป็นสิ่งที่กระตุ้นเตือนให้คนในต่างจังหวัดคิดว่าฉันก็พร้อมจะเลือกตั้งนะ ฉันก็อยากให้มีผู้ว่าฯ เป็นคนในจังหวัดของฉันโดยผ่านกระบวนการเลือกตั้ง ซึ่งอย่างน้อยก็ยึดโยงกับประชาชน และจะนำไปสู่การมีส่วนร่วมได้ไม่มากก็น้อย” นายไมตรีกล่าวทิ้งทาย

พังงา

พังงา

แร่หมื่นล้าน บ้านกลางน้ำ ถ้ำงามตา ภูผาแปลก แมกไม้จำปูน บริบูรณ์ด้วยทรัพยากร

Related Posts

Next Post

บทความ แนะนำ

No Content Available

Welcome Back!

Login to your account below

Create New Account!

Fill the forms below to register

Retrieve your password

Please enter your username or email address to reset your password.