ภูมิภาค
เพาะเลี้ยงสาหร่ายพวงองุ่นด้วยปุ๋ยชีวภาพ กิโลละ 150 บาท พร้อมให้ความรู้สู่เกษตรกร
วันอังคาร ที่ 07 กันยายน พ.ศ. 2564, 12.27 น.
ติดตามข่าวด่วน กระแสข่าวบน Facebook คลิกที่นี่
ที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งพังงา อ.ท้ายเหมือง จ.พังงา ผู้สื่อข่าวรายงานว่ามีการเพาะเลี้ยงสาหร่ายพวงองุ่น ซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจที่ตลาดยังมีความต้องการสูง โดยเฉพาะในกลุ่มคนรักสุขภาพ โดยทางศูนย์ฯ ได้เพาะเลี้ยงสาหร่ายพวงองุ่นมาหลายปีแล้ว แต่ตอนนี้ได้ปรับวิธีการเลี้ยงจากเดิมที่เคยใช้ปุ๋ยวิทยาศาสตร์ หันมาใช้ปุ๋ยชีวภาพ ซึ่งเป็นน้ำหมักจากการเลี้ยงสัตว์น้ำ เช่น การเลี้ยงปลากะพงขาว และเต่าทะเล โดยน้ำดังกล่าวมีแร่ธาตุเหมาะสม สามารถเป็นอาหารให้แก่สาหร่ายพวงองุ่นได้เป็นอย่างดี ทำให้สาหร่ายมีการเจริญเติบโตได้ดี เม็ดเต็มอิ่มทุกช่อ สำหรับสาหร่ายพวงองุ่น เป็นสาหร่ายทะเลชนิดหนึ่ง มีคุณประโยชน์ คือ ให้พลังงานน้อย มีโปรตีน วิตามิน แร่ธาตุ และไอโอดีน ช่วยปรับสมดุลในร่างกาย รักษาความชุ่มชื้นของเซลล์ผิว บำรุงสมอง บำรุงเส้นผม เหมาะสำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง และโรคหัวใจ จึงเป็นพืชเศรษฐกิจที่น่าสนใจ สำหรับสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรในพื้นที่ชายฝั่งอันดามัน ส่วนเมนูที่ขึ้นชื่อคือส้มตำสาหร่ายพวงองุ่นและสลัดสาหร่ายพวงองุ่น บางคนก็ชอบกินเป็นผักสดคู่กับน้ำพริก
นางฉันทนา แก้วตาปี ผอ.ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งพังงา เปิดเผยว่าข้อดีของการเลี้ยงสาหร่ายพวงองุ่นด้วยปุ๋ยชีวภาพ คือปลอดภัยสำหรับผู้บริโภค มั่นใจได้ว่าไม่มีสารตกค้าง การเจริญเติบโตของสาหร่ายจะดีกว่าการเลี้ยงด้วยปุ๋ยเคมี ทำให้เกษตรกรสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้เร็วขึ้น โดยศูนย์ฯ จะใช้วิธีเลี้ยงในตะกร้า ใส่พันธุ์สาหร่ายลงไปตะกร้าละ 500 กรัมใช้เวลา 1 เดือน สาหร่ายพวงองุ่นก็จะโตเต็มตะกร้า มีน้ำหนักเพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัว พร้อมเก็บเกี่ยวส่งขาย ถ้าเป็นสาหร่ายเกรด A คือเมล็ดโต เป็นพวงสวย เขียวมรกต จะจำหน่ายอยู่ที่ กิโลกรัมละ 150 บาท ทั้งนี้เกษตรในพื้นที่จังหวัดพังงาหรือใกล้เคียง ที่สนใจอยากเข้ามาศึกษาองค์ความรู้ สำหรับนำไปประกอบอาชีพ หรือขอซื้อสายพันธุ์สาหร่ายพวงองุ่น ไปเลี้ยงในกระชังหรือบ่อปลา ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่ง พังงา ก็ยินดีที่จะถ่ายทอดความรู้ แนะนำวิธีการเลี้ยงให้ โดยขณะนี้มีเกษตรหลายรายเข้ามาติดต่อ และเริ่มเลี้ยงควบคู่ไปกับการเลี้ยงปลาในกระชังและปลาสวยงามแล้ว สามารถติดต่อสอบถามได้ที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่ง
ติดตามข่าวด่วน กระแสข่าวบน Facebook คลิกที่นี่