ประกาศกรมอุตุนิยมวิทยา “พายุไซโคลน “ยาอาส” (YAAS) บริเวณอ่าวเบงกอล” ฉบับที่ 8 ลงวันที่ 26 พฤษภาคม 2564
เมื่อเวลา 04.00 น. พายุไซโคลน “ยาอาส” (YAAS) บริเวณอ่าวเบงกอลตอนบน มีศูนย์กลางอยู่ที่ละติจูด 20.4 องศาเหนือ ลองจิจูด 87.6 องศาตะวันออก กำลังเคลื่อนตัวทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือด้วยความเร็วประมาณ 15 กม./ชม. มีความเร็วลมสูงสุดใกล้ศูนย์กลางประมาณ 120 กม./ชม. คาดว่าจะเคลื่อนขึ้นฝั่งบริเวณรัฐโอริสสาและรัฐกัลกัตตา ประเทศอินเดีย ในวันนี้ (26 พฤษภาคม 2564)
ส่งผลให้ในช่วงวันที่ 25-27 พฤษภาคม 2564 มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทยมีกำลังแรงขึ้น ทำให้ภาคใต้มีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง บริเวณจังหวัดระนอง พังงา ภูเก็ต และกระบี่ ขอให้ประชาชนบริเวณภาคใต้ระวังอันตรายจากฝนที่ตกหนักและฝนที่ตกสะสมไว้ด้วย
สำหรับคลื่นลมในทะเลอันดามันมีกำลังแรง โดยมีคลื่นสูง 2-4 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองมีคลื่นสูงมากกว่า 4 เมตร ส่วนอ่าวไทยตอนบนทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร อ่าวไทยตอนล่างทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตร และบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ชาวเรือบริเวณทะเลอันดามันควรงดเว้นการเดินเรือ ส่วนชาวเรือบริเวณอ่าวไทยควรเดินเรือด้วยความระมัดระวัง
จึงขอให้ประชาชนติดตามประกาศจากกรมอุตุนิยมวิทยา และสามารถติดตามข้อมูลที่เว็บไซต์กรมอุตุนิยมวิทยา http://www.tmd.go.th หรือสายด่วนพยากรณ์อากาศ 1182 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง
ประกาศ ณ วันที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2564 เวลา 05.00 น.
ที่สำนักงานป้องกันบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดพังงา ต.ถ้ำน้ำผุด อ.เมือง จ.พังงา นายสงบ สะโตน นายช่างโยธา อาวุโส รักษาราชการแทนหัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดพังงา ได้เข้าตรวจสอบ และเตรียมอุปกรณ์การช่วยเหลือ เหตุน้ำท่วม คลื่นลมแรง และภัยทางธรรมชาติ หลังกรมอุตุนิยมวิทยาภาคใต้ฝั่งอันดามัน แจ้งเตือน พายุไซโคลน “ยาอาส” (YAAS) บริเวณอ่าวเบงกอลตอนบน ซึ่งคาดว่าจะขึ้นฝั่งประเทศอินเดียในวันนี้
นายจำเริญ ทิพญพงศ์ธาดา ผู้ว่าราชการจังหวัดพังงา เปิดเผยว่า ขณะนี้ได้สั่งการนายอำเภอทั้ง 8 อำเภอในพื้นที่จังหวัดพังงา เตรียมความพร้อมและป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดแก่ชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน โดยจังหวัดพังงาเป็นหนึ่งในจังหวัดที่จะได้รับผลกระทบจากพายุไซโคลน “ยาอาส” (YAAS)ในช่วงวันที่ 26-27 พฤษภาคม 2564
“ขอให้ประชาชนระวังอันตรายจากฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง พร้อมได้กำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่ให้ติดตามสถานการณ์ ข่าวสารการพยากรณ์อากาศ สภาพน้ำท่าอย่างใกล้ชิด และปฏิบัติตามคำแนะนำของทางราชการในการเตรียมรับสถานการณ์ พร้อมแจ้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้นำท้องถิ่นผู้นำท้องที่ ประสานการบูรณาการ เตรียมพร้อมทรัพยากร เครื่องมือ อุปกรณ์กู้ชีพกู้ภัย และกำลังเจ้าหน้าที่ประจำศูนย์จัดการภัยพิบัติตำบลในการเข้าช่วยเหลือประชาชน กู้ภัย และบรรเทาภัย ตลอด 24 ชั่วโมง”