กระทรวงการท่องเที่ยวฯ ร่วมกับ ททท. พร้อมเอกชน เตรียมความพร้อมเปิด “หัวหิน” เผยมาตรการต้อนรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ แบบไม่กักตัว 1 ต.ค.นี้
วันที่ 6 กันยายน 2564 นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เปิดเผยว่า ความคืบหน้าโครงการ หัวหิน รีชาร์จ และแนวทางการเปิดเมืองหัวหินต้อนรับนักท่องเที่ยวต่างชาติแบบไม่กักตัว ตามที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้มอบนโยบายให้กระทรวงการท่องเที่ยวฯ และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เปิดประเทศภายใน 120 วัน
พร้อมจัดทำแผนทั้งหมดตั้งแต่ระยะที่ 1 คือ การเปิดภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ สมุย พลัส โมเดล เกาะยาวน้อย เกาะยาวใหญ่ เขาหลัก จังหวัดพังงา และเกาะพีพี เกาะไหง ไร่เลย์ จังหวัดกระบี่ ในช่วงเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา
ส่วนแผนระยะที่ 2 กำหนดเริ่มในวันที่ 1 ตุลาคมนี้ จะมีการเปิดประเทศเพิ่มอีก 5 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพฯ ชลบุรี (พื้นที่พัทยา บางละมุง สัตหีบ) เพชรบุรี (พื้นที่ชะอำ) ประจวบคีรีขันธ์ (พื้นที่หัวหิน) และเชียงใหม่ (พื้นที่อำเภอเมือง แม่แตง แม่ริม และดอยเต่า)
การเปิดประเทศครั้งนี้เชื่อว่าผู้ประกอบการมีความพร้อม แต่วัคซีนยังมาไม่ครบจึงยังเปิดไม่ได้ รวมถึงสิ่งที่ปฏิบัติได้ยากในเมืองท่องเที่ยวขณะนี้คือ หากเป็นไปได้ขอให้จัดเป็น พื้นที่สีเหลือง เพื่อให้สามารถรับประทานอาหารและดื่มสุราได้
ซึ่งนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้ามาส่วนใหญ่ต้องการท่องเที่ยวในสถานบันเทิงด้วย เช่น ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ที่ถูกกำหนดให้เป็นพื้นที่ควบคุมสีส้ม ทานอาหารได้ แต่ไม่สามารถดื่มสุราได้ นักท่องเที่ยวบางส่วนจึงไม่พอใจในระดับหนึ่ง โดยหากมีการป้องกันการแพร่ระบาดภายในจังหวัดได้มากขึ้น คาดว่าสถานการณ์จะเริ่มดีขึ้นตามมา
นอกจากนี้ กระทรวงการท่องเที่ยวฯจะนำไทยแลนด์ริเวียร่ามาเป็นตัวเชื่อมการท่องเที่ยวระหว่างจังหวัด โดยจะเสนอศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) และที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวาระต่อไปด้วย
“กระทรวงการท่องเที่ยวฯจะติดตามสถานการณ์การระบาดโควิดในประเทศอย่างใกล้ชิดจนถึงวันที่ 14 กันยายนนี้ว่าตัวเลขผู้ติดเชื้อจะน้อยลงหรือไม่ หากผู้ติดเชื้อน้อยลงจนเหลือหลักพัน จากปัจจุบันผู้ติดเชื้ออยู่ที่หลักหมื่นคนนั้น จะมีการหารือในที่ประชุม ศบค.และกระทรวงสาธารณสุขว่าจากสถิติของนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาในภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ปัจจุบันมีผู้ติดเชื้อคิดเป็น 0.3% เท่านั้น”
“ทำให้จะมีความเป็นไปได้หรือไม่ที่จะลดวันกักตัวเหลือ 7 วัน จาก 14 วัน พร้อมมั่นใจว่า พื้นที่ 5 จังหวัดดังกล่าว โดยเฉพาะกรุงเทพฯ ได้รับวัคซีนที่ 70% ของประชากรแล้ว ส่วนพื้นที่อื่นยังคงขาดวัคซีนอีกจำนวนหนึ่ง โดยเฉพาะเพชรบุรีและประจวบคีรีขันธ์ โดยกระทรวงการท่องเที่ยวฯจะเจรจากับ ศบค.และกระทรวงสาธารณสุขให้จัดสรรวัคซีน เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่รองรับการเปิดประเทศต่อไป” นายพิพัฒน์กล่าว
นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวว่า รูปแบบการเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในโครงการหัวหิน รีชาร์จ นักท่องเที่ยวต่างชาติจะต้องทำการตรวจหาเชื้อแบบ RT-PCR หรือการเก็บตัวอย่างเชื้อบริเวณลำคอ และหลังโพรงจมูก จำนวน 3 ครั้ง โดยเมื่อมาถึงสนามบินต้องตรวจครั้งที่ 1 ทันที
หลังจากนั้นเดินทางเข้าโรงแรมที่พักผ่านรถโดยสารที่ได้รับมาตรการตามกำหนดไว้ นักท่องเที่ยวจะไม่สามารถออกจากห้องพักได้ จนกว่าจะมีการยืนยันว่า ไม่พบเชื้อโควิด จึงจะสามารถเดินทางท่องเที่ยวในเส้นทางท่องเที่ยวกำหนดเฉพาะ (ซีลรูท) ได้ แบบไม่มีการกักตัว
จากนั้นให้ตรวจซ้ำอีก 2 ครั้ง ในวันที่ 6-7 และวันที่ 12-13 ซึ่งหากไม่พบเชื้อโควิดและอยู่ในพื้นที่ครบ 14 วันแล้ว ถึงจะสามารถเดินทางท่องเที่ยวในพื้นที่อื่นทั่วประเทศไทยได้ จึงยืนยันว่าคนในพื้นที่สามารถสบายใจได้ในการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติได้
ส่วนเงื่อนไขการพิจารณาเปิดพื้นที่นำร่อง จะยึดการพึ่งพารายได้จากต่างประเทศในสัดส่วนที่สูงเป็นหลัก รวมถึงการประเมินแล้วพบว่าพื้นที่นั้นมีศักยภาพในการทำตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติหรือไม่ อาทิ การทำตลาดท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ซึ่งพื้นที่ที่เลือกมานั้นมีคุณสมบัติ 1 ใน 2 ข้อหลัก หรือมีครบทั้ง 2 ข้อ โดยการเปิดท่องเที่ยวแบ่งเป็น 3 พื้นที่ ได้แก่
1.พื้นที่เกาะ 2.พื้นที่ทางบก ซึ่งเป็นการเปิดทั้งในรูปแบบกำหนดเฉพาะบางพื้นที่ และการเปิดทั้งหมดในพื้นที่ และ 3.พื้นที่มีพรมแดนติดประเทศเพื่อนบ้าน เปิดแบบจับคู่ท่องเที่ยว (บับเบิล) โดยกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาได้ให้นโนบายพิจารณาพื้นที่อื่นเพิ่มเติม ในระยะต่อจากนี้ด้วย อาทิ พื้นที่เชียงคาน จังหวัดเลย จังหวัดหนองคาย พื้นที่เกาะกูด เกาะช้าง จังหวัดตราด เกาะเสม็ด จังหวัดระยอง
นายยุทธศักดิ์กล่าวว่า รวมถึงได้ศึกษาในการกำหนด พื้นที่สีน้ำเงิน (บลูโซน) หรือระดับสีทางเศรษฐกิจขึ้น เนื่องจากการกำหนดกิจกรรมทางเศรษฐกิจขณะนี้ขึ้นอยู่กับการแบ่งระดับสีที่บ่งบอกความรุนแรงของการระบาดโควิดในพื้นที่ ซึ่งสาธารณสุขจะเป็นผู้กำหนดว่าสามารถดำเนินกิจกรรมอะไรได้บ้าง ทำให้ในบางพื้นที่แม้เป็นจังหวัดสีส้ม
แต่หากสามารถจัดการเรื่องความปลอดภัยในการท่องเที่ยวได้ หรือในจังหวัดนั้นมีพื้นที่ที่ไม่พบการระบาดรุนแรงถึงระดับสีของจังหวัด ก็อาจจัดทำเป็นสีของเศรษฐกิจ ที่มีการผ่อนคลายมาตรการต่าง ๆ ได้ เพื่อให้สอดคล้องกับการเปิดประเทศรับต่างชาติ
“พื้นที่บลูโซนอาจผ่อนคลายมาตรการเข้มข้นลง เช่น อนุญาตให้จำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้ เพื่อสร้างรายได้กระจายลงไปในฐานรากมากขึ้น แต่ไม่ได้หมายความว่าการจำหน่ายแอลกอฮอล์ถือเป็นเรื่องดี ซึ่งจะดำเนินการศึกษาไปพร้อมกับการพิจารณาลดวันพำนักในพื้นที่ หรือวันกักตัวลง”
“จากกำหนดไว้ที่ 14 วัน เหลือ 7 วัน ตามที่ ศบค.ได้มีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 19 มีนาคมที่ผ่านมา ก่อนจะเลื่อนการบังคับใช้ออกไป เพราะเกิดการระบาดโควิดในประเทศ เพื่อให้ภาคการท่องเที่ยวไทยสามารถแข่งขันได้ เนื่องจากหลายประเทศได้เปิดการท่องเที่ยวแบบไม่กักตัวแล้ว” นายยุทธศักดิ์กล่าว
สำหรับการท่องเที่ยวในประเทศไทยนั้น ตั้งแต่เดือนตุลาคมเป็นต้นไป คาดหวังว่าจะเห็นการท่องเที่ยวไทยกลับมา เนื่องจากเป็นช่วงไฮซีซั่น และมีข้อจำกัดในการเดินทางออกนอกประเทศ รวมถึงมีโครงการกระตุ้นการท่องเที่ยวเพิ่มเติมด้วย ได้แก่ เราเที่ยวด้วยกัน และทัวร์เที่ยวไทย โดยคาดว่าในปีนี้ตลาดไทยเที่ยวไทยจะมีการเดินทางในประเทศไม่ต่ำกว่าปี 2563 อยู่ที่ 90 ล้านคน-ครั้ง ซึ่ง ททท.พยายามกัดฟันทำให้ได้ตามที่วางเป้าหมายไว้
นายยุทธศักดิ์กล่าวว่า ส่วนตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติ ได้ตั้งเป้าหมายไว้ที่ 1.2 ล้านคน แต่ขณะนี้หวังให้เห็นที่ 1 ล้านคนให้ได้ก่อน เพราะจากข้อมูลจำนวนต่างชาติเดินทางเข้าไทยในช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ มีจำนวน 40,000 คน บวกกับเข้ามาในโครงการภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์อีก 26,400 คน ในช่วงเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม ที่ผ่านมา รวมเกือบ 100,000 คน ซึ่งเหลืออีก 900,000 คน ที่ต้องเข้ามาในช่วง 3 เดือนสุดท้ายของปี
หากสามารถมาได้เดือนละ 300,000 คน รวมถึงนโยบายการกักตัวของประเทศต้นทางไม่ได้กำหนดให้เมื่อเดินทางกลับประเทศต้นทางแล้วต้องกักตัว เชื่อว่ายังมีโอกาสได้เห็นที่ 1 ล้านคนในปีนี้อยู่