“สคร.11 เตือนประชาชนระวังป่วยไข้เลือดออก หลังมีฝนตกในหลายพื้นที่”
สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 11 จังหวัดนครศรีธรรมราช เตือนประชาชนระวังป่วยด้วยโรคไข้เลือดออก เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมามีฝนตกในหลายพื้นที่ ทำให้เกิดน้ำขังตามภาชนะต่างๆ เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายได้ แนะร่วมกันกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลายอย่างต่อเนื่องเป็นประจำ เน้นยึดหลัก “3 เก็บ ป้องกัน 3 โรค”
แพทย์หญิงศิริลักษณ์ ไทยเจริญ ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 11 จังหวัดนครศรีธรรมราช เผยข้อมูลจากการเฝ้าระวังของกรมควบคุมโรค สถานการณ์โรคไข้เลือดออกในปี 2564 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 8 มีนาคม 2564 มีรายงานผู้ป่วยทั่วประเทศ 1,621 ราย เสียชีวิต 1 ราย กลุ่มอายุที่พบผู้ป่วยสูงสุด คือ อายุ 15-24 ปี รองลงมา อายุ 25-34 ปี โดยปัจจัยที่ส่งผลต่อการเสียชีวิตของผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกที่สำคัญ ได้แก่ ได้รับการวินิจฉัยล่าช้า รวมถึงมีแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายบริเวณที่พักอาศัย สำหรับสถานการณ์ในพื้นที่ 7 จังหวัดภาคใต้ตอนบน ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 22 มีนาคม 2564 มีผู้ป่วยโรคไข้เลือดออก จำนวน 135 ราย กลุ่มอายุที่พบสูงสุดคือกลุ่มอายุ 5 – 9 ปี จังหวัดที่มีอัตราป่วยต่อประชากรแสนคนสูงสุด คือจังหวัดระนอง รองลงมาคือ ชุมพร พังงา กระบี่ นครศรีธรรมราช ภูเก็ต และ สุราษฎร์ธานี
คาดว่าในช่วงนี้จะมีโอกาสพบผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกเพิ่มขึ้น เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมามีพายุฤดูร้อนและฝนตกเกิดขึ้นในหลายพื้นที่ ทำให้มีน้ำขังตามภาชนะต่างๆ ซึ่งเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลาย ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคไข้เลือดออก จึงขอแนะนำประชาชนให้ดูแลสุขภาพของตนเองและคนในครอบครัว โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงที่อาจมีอาการรุนแรงหรือเสียชีวิต ได้แก่ เด็ก ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง หากมีอาการไข้สูง ควรหลีกเลี่ยงการซื้อยารับประทานเอง หากจำเป็นให้ใช้เฉพาะ
ยาพาราเซตามอล โดยห้ามใช้ยากลุ่ม NSAID (non-steroidal anti-inflammatory drug) เช่น ยาแอสไพริน หรือไอบูโพรเฟน เพราะอาจทำให้เลือดออกมากขึ้น หากอาการไม่ดีขึ้น ควรรีบไปพบแพทย์ เพื่อรับการวินิจฉัยและการรักษาที่เหมาะสม
แพทย์หญิงศิริลักษณ์ กล่าวเพิ่ม ขอให้ประชาชน ชุมชน และหน่วยงานต่างๆ ร่วมกันกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย โดยเน้นมาตรการ “3 เก็บ ป้องกัน 3 โรค” คือ 1. เก็บบ้าน ไม่ให้มีมุมอับทึบเป็นที่เกาะพักของยุง ล้างคว่ำภาชนะและเปลี่ยนน้ำในกระถางหรือแจกันทุกสัปดาห์ 2.เก็บขยะ เศษภาชนะไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุง และ 3.เก็บน้ำ ปิดฝาภาชนะใส่น้ำให้มิดชิด ป้องกันยุงลายวางไข่ และเน้นการป้องกันไม่ให้ยุงกัด โดยทายากันยุง นอนในมุ้ง โดยจะสามารถป้องกันได้ถึง 3 โรค ได้แก่ โรคไข้เลือดออก โรคติดเชื้อไวรัสซิก้า และโรคไข้ปวดข้อยุงลาย และหากมีอาการไข้สูง เบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน หน้าแดง ปวดศีรษะ มีรอยจ้ำเลือดสีแดงตามลำตัว แขน ขา หรือสงสัยว่าป่วยด้วยโรคไข้เลือดออก ให้รีบพบแพทย์ทันที สอบถามเพิ่มเติมที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422”
ดาวน์โหลดเอกสารเพิ่มเติม : เอกสาร