หมายเหตุ – นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ปาฐกถาพิเศษหัวข้อ “ท่องเที่ยวไทยท้าชน PERFECT STORM” ในสัมมนาหัวข้อ “ท้าชน PERFECT STORM ทางรอดเศรษฐกิจไทย” จัดโดยหนังสือพิมพ์มติชน เมื่อวันที่ 29 กันยายน ที่โรงแรม เรเนซองส์ กรุงเทพฯ ราชประสงค์
การระบาดเชื้อโควิด-19 กว่า 3 ปีที่ผ่านมา ส่งผลต่อภาคธุรกิจในภาพรวมอย่างหนักหน่วง โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยว ไม่ได้รับผลกระทบน้อยกว่าธุรกิจอื่นๆเศรษฐกิจไทยขณะนี้เปรียบเหมือนเจอพายุเข้ามาอย่างต่อเนื่อง เริ่มตั้งแต่โควิด-19 แม้คลายตัวแล้ว แต่มาเจอพายุลูกที่ 2 เป็นสงครามรัสเซีย-ยูเครน ส่งผลให้เกิดวิกฤตพลังงาน จากความผันผวนของราคาน้ำมัน ตามด้วยพายุลูกที่ 3 เป็นภาวะเงินเฟ้อ หลายประเทศกำลังชุลมุนอยู่กับการขึ้นดอกเบี้ย เพื่อสกัดเงินเฟ้อ ส่งผลต่อภาระของประชาชนเพิ่มขึ้น ทุกอย่างโถมเข้ามาในเวลาเดียวกัน เปรียบเหมือนเรากำลังผจญกับพายุกลางทะเล ในหมวดของภาคการท่องเที่ยว น่าจะเปรียบเป็นกัปตันเรือลำดังกล่าว มีการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เป็นผู้ชี้แนวทาง มีหลายสถานะ อาทิ เป็นช่างเครื่องยนต์ด้วย บุกตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศคู่กัน โดยกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาและ ททท.ทำงานด้วยกัน ต้องเดินหน้าไปพร้อมกัน เพื่อฝ่าคลื่นพายุรุนแรงนี้ไปให้ได้
วันนี้เราสามารถผ่านวิกฤตของพายุแล้ว ฟ้าเริ่มสว่างทะเลเริ่มเรียบไร้คลื่น กระทรวงการท่องเที่ยวฯและ ททท. ไม่มีทางนำพาเรือลำนี้เข้าสู่ฝั่งอย่างยิ่งใหญ่และรวดเร็วได้ อยากเชิญชวนคนไทยทั้งประเทศ โดยเฉพาะผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวทั้ง 13 สาขา ช่วยกันฟันฝ่าไปด้วยกันสู่วันที่เราสามารถประกาศชัยชนะได้ว่าประเทศไทยไม่ใช่เสือตัวที่ 10 ในการฟื้นภาพรวมเศรษฐกิจในภูมิภาคนี้ แต่ประเทศไทยคือเสือตัวที่ 1 ประสบความสำเร็จในการฟื้นเศรษฐกิจหลังโควิดระบาดด้วยภาคการท่องเที่ยวเรียบร้อยแล้ว
การระบาดโควิด-19 ถือเป็นพายุที่มีคลื่นรุนแรงมาก เชื่อว่าโอกาสจะเจอพายุแบบนี้จะเกิดขึ้นอีกครั้ง มีเพียง 100 ปีเกิดขึ้น 1 ครั้งเท่านั้น คาดหวังว่าเราจะไม่ต้องเจอพายุลูกแบบนี้อีกแล้วในช่วงชีวิตที่มีอยู่ การแก้ไขปัญหาและแก้วิกฤตด้านการท่องเที่ยว พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ติดตามการแก้ปัญหาของโควิดอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปลายปี 2562 ที่อู่ฮั่น ประเทศจีน มีการรับมือผ่านการนำเข้าวัคซีน และมีการเปิดประเทศอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่วีซ่าท่องเที่ยวพิเศษ (STV) การกักตัวหรือควอรันทีนต่างๆ ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ จนถึงปัจจุบันที่มีการปลดล็อกเงื่อนไขต่างๆ จนกลับมาเป็นปกติแล้ว ขอบคุณกระทรวงสาธารณสุขที่จัดวัคซีนเข้ามาฉีดให้ประชาชนในประเทศ ขณะนี้มีสัดส่วนการฉัดวัคซีนประมาณ 70% แล้ว
สำหรับเป้าหมายการท่องเที่ยวไทยในปี 2565 เชื่อมั่นว่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาได้ตามเป้าหมายที่ 10 ล้านคนแน่นอน และอาจทะลุเป้าหมายได้เล็กน้อยด้วย เนื่องจากขณะนี้มีเข้ามาสะสมเกือบ 6 ล้านคนแล้ว ส่วนการท่องเที่ยวในประเทศ ตั้งเป้าหมายการเดินทางของตลาดไทยเที่ยวไทยไว้ที่ 160 ล้านคน-ครั้ง ขณะนี้มีการเดินทางสะสมเกิน 130 ล้านคน-ครั้งแล้ว จึงมั่นใจว่าทำได้ตามเป้าหมายแน่นอน แต่ความกังวลตอนนี้อยู่ที่เป้าหมายในแง่รายได้ที่ตั้งไว้ 1.28 ล้านล้านบาท เราต้องมีอะไรมาเป็นตัวเสริม เพื่อให้วิ่งไปถึงเป้าหมายที่ตั้งไว้ให้ได้ รวมถึงเป้าหมายของนายกฯ ตั้งไว้ให้ภาคการท่องเที่ยวสามารถสร้างรายได้ถึง 1.5 ล้านล้านบาทด้วย ต้องยอมรับว่าเป้าหมายได้ที่ 1.28 ล้านล้านบาท ถือเป็นเป้าหมายยากอยู่แล้ว ทำให้เป้าหมายที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ตั้งเป้าใหม่ไว้ที่ 1.5 ล้านล้านบาท ถือเป็นเป้าหมายที่ยากมากเข้าไปอีก จึงกำลังปวดหัวอยู่ในตอนนี้
สำหรับปี 2566 ตั้งเป้าหมายจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติไว้ที่ 20 ล้านคน การเดินทางของคนไทยเที่ยวไทยเป็นเป้าหมายเดิมที่ 160 ล้านคน-ครั้ง สร้างรายได้รวมอยู่ที่ 2.4 ล้านล้านบาท นับเป็นการฟื้นตัวกลับมาในสัดส่วน 80% ของปี 2562 ก่อนเกิดโควิดระบาด ถือเป็นความท้าทายของทั้งกระทรวงการท่องเที่ยวฯและ ททท. ไม่มีทางทำได้หากพี่น้องคนไทยไม่ช่วยกัน รวมพลังในการเป็นเจ้าบ้านที่ดี เป้าหมายที่ตั้งไว้อย่างไรก็ไปไม่ถึง แต่มั่นใจว่าจากเหตุการณ์ที่ผ่านมา การเติบโตของภาคการท่องเที่ยวที่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาเที่ยวไทยนับตั้งแต่ปี 2552 มีนักท่องเที่ยวเข้ามาเที่ยวไทยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากจำนวนประมาณ 9.5 ล้านคน จนสูงสุดในปี 2562 ประมาณ 39.8 ล้านคน
หลังจากโควิดคลายตัวแล้ว เราจะฟันฝ่าเศรษฐกิจต่อไปได้อย่างไร หลังจากเราเดินทางมาถึงช่วงสุดท้ายของการปลดล็อกทุกอย่างกลับเข้าสู่ช่วงก่อนโควิดระบาด หรือภาพปี 2562 อีกครั้ง หากประเมินจากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเที่ยวไทย สะสมจากต้นปีถึงปัจจุบัน มีประมาณ 5.4 ล้านคน สร้างรายได้กว่า 2 แสนล้านบาท ถือเป็นการยืนยันได้ชัดเจนถึงการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวอย่างต่อเนื่อง ส่งผลต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ
ทั้งหมดนี้คือภาพสะท้อนของนโยบายฟื้นประเทศด้วยท่องเที่ยว หากพูดถึงการฟื้นประเทศด้วยท่องเที่ยว หลายคนก็จะคำนึงถึงเฉพาะรายได้จากการท่องเที่ยว แต่หากเรามองแต่รายได้จะกลายเป็นการฟื้นตัวที่ไม่ยั่งยืน และไม่เป็นไปตามนโยบายเศรษฐกิจบีซีจี ทำให้เมื่อพูดถึงการฟื้นประเทศด้วยท่องเที่ยว เราจะใช้การท่องเที่ยวเป็นเครื่องมือในการฟื้นทั้งทางด้านสังคม วัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อม ไม่ใช่เพียงแค่เศรษฐกิจที่คำนึงถึงแต่รายได้และเม็ดเงินเท่านั้น
การฟื้นประเทศด้วยท่องเที่ยว ด้านเศรษฐกิจ ประเทศไทยมีรายได้จากการท่องเที่ยวสูงมาก เป็นเครื่องยืนยันว่าการท่องเที่ยวเป็นภาคส่วนสำคัญของการท่องเที่ยวการท่องเที่ยวนำมาซึ่งรายได้จากการจับจ่ายใช้สอยของนักท่องเที่ยว ก่อให้เกิดการกระจายรายได้ การสร้างสรรค์อาชีพและการจ้างงานแก่ชุมชนท้องถิ่น ส่งผลต่อการฟื้นเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว ด้านสิ่งแวดล้อม การท่องเที่ยวช่วยสร้างจิตสำนึกในการดูแลและปกป้องสิ่งแวดล้อมจากคนในชุมชน แผนการขับเคลื่อนในกลุ่มการท่องเที่ยวชุมชน ถือเป็นการดูแลสิ่งแวดล้อมเข้าไปในตัว และตอบโจทย์นโยบายของนายกฯเรื่องการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนด้วย แต่ละชุมชนมีของดีของตัวเอง ทั้งวัตถุดิบ เจ้าของพื้นที่ ทุกอย่างมีครบแล้วจึงไม่ต้องนำอย่างอื่นเข้ามา เมื่อสามารถพัฒนาท่องเที่ยวชุมชนได้ สิ่งที่จะตามมาคือชุมชนจะสามารถดูแลสิ่งแวดล้อมให้เขียวชอุ่มต่อไปได้ เพราะนักท่องเที่ยวในปัจจุบันต้องการเสพธรรมชาติ ตามเทรนด์ท่องเที่ยวโลกในปัจจุบัน
ด้านสังคม การท่องเที่ยวช่วยสร้างความเข้าใจอันดีระหว่างคนในท้องถิ่นและสร้างความสามัคคีกระจายรายได้ให้แก่เจ้าของท้องถิ่นอย่างทั่วถึง พัฒนาและยกระดับความเจริญของคนในท้องถิ่นให้สูงขึ้น เพราะปัจจัยดึงดูดนักท่องเที่ยวคือเมืองมีความสะดวก สะอาด ปลอดภัย หากสถานที่ใดมีปัญหาความเสื่อมโทรมสกปรกความไม่ปลอดภัย ก็จะไม่เป็นที่ต้องการของนักท่องเที่ยวการพัฒนาระบบสาธารณสุขสาธารณูปโภค เพื่อรองรับนักท่องเที่ยว ย่อมอำนวยความสะดวกแก่คนในท้องถิ่นด้วยเช่นกัน อันเป็นผลกระทบเชิงบวกจากการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน และด้านวัฒนธรรม การท่องเที่ยวจะช่วยเผยแพร่เอกลักษณ์ของท้องถิ่นให้เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางขึ้น เป็นเครื่องมือในการสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้แก่วัฒนธรรมที่ช่วยให้ประชาชน ชุมชน ผู้ประกอบการ หน่วยงานภาครัฐมองเห็นประโยชน์ของวัฒนธรรม และตระหนักถึงความสำคัญของวัฒนธรรม คุณค่าทางเศรษฐกิจด้านวัฒนธรรมที่เกิดขึ้นจากการท่องเที่ยวจะกระตุ้นให้เกิดการอนุรักษ์วัฒนธรรมที่ดีของประเทศและของชุมชนให้สืบทอดส่งต่อไปยังอนุชนรุ่นหลัง
กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ได้ทำแผนปฏิบัติการ 180 วัน ฟื้นประเทศด้วยท่องเที่ยว เพื่อบูสต์การท่องเที่ยวช่วงปลายปีให้ไปสู่เป้าหมาย ควบคู่ไปกับการฟื้นฟูการท่องเที่ยวอย่างมีความรับผิดชอบ และปรับโครงสร้างภาคการผลิตเพื่อให้เติบโตอย่างมีส่วนร่วมและยั่งยืน แนวคิดในการฟื้นประเทศด้วยท่องเที่ยว มีทั้งโครงการในระดับพื้นที่ที่เลือกดำเนินการให้เหมาะสมตามภูมิรัฐศาสตร์ ภูมิเศรษฐศาสตร์ และอัตลักษณ์พื้นที่ และที่เป็นนโยบายภาพใหญ่
โดยการพัฒนาภาคการท่องเที่ยวต่อจากนี้ ผ่านการพัฒนาการท่องเที่ยว 2 ฝั่งทะเลไทย ต้องขอบคุณกระทรวงคมนาคมพัฒนาถนนหนทางจนเราสามารถท่องเที่ยวชายฝังทะเลได้อย่างดี พร้อมกับการท่องเที่ยวอนุรักษ์ประมงพื้นบ้าน แบ่งเป็น 4 กลุ่ม ได้แก่
1.อีอีซี การท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดี (ชลบุรี ระยอง จันทบุรี ตราด) เปรียบเสมือนหญิงสาวยุคใหม่ ปราดเปรียวล้ำสมัย ชอบแสวงหาและพร้อมเปิดรับเทคโนโลยีนวัตกรรมใหม่ๆ
2.ไทยแลนด์ริเวียร่า ประกอบด้วย เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร และระนอง เปรียบเสมือนหญิงสาวให้ความสำคัญกับครอบครัว ชื่นชอบการเดินทางไปพักผ่อน รักธรรมชาติ รักทะเลและขุนเขา การท่องเที่ยวทางรถไฟและรถยนต์ เป็นการท่องเที่ยวทำให้เข้าถึงแหล่งท่องเที่ยวได้ สร้างการกระจายรายได้สู่พื้นที่อย่างแท้จริง ส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยรถยนต์แบบคาร์บอนต่ำมุ่งพัฒนาจุดพักรถให้บริการชาร์จไฟรถยนต์แบบด่วน และจุดจำหน่ายอาหาร สินค้า และบริการของชุมชน ชูความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติทั้ง ป่า เขา ทะเล และแหล่งน้ำพุร้อน เป็นที่พักผ่อนเพื่อสุขภาพชั้นนำของโลก
3.ดินแดนแห่งศรัทธา วัฒนธรรม และความหลายทางชีวภาพ ประกอบด้วย สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา เปรียบเสมือน หญิงสาวรักความสงบสุขให้ความสำคัญกับเรื่องทางจิตวิญญาณ มีความเป็นปัจเจกบุคคล มองหาความหมายของชีวิต โดยจะเชื่อมต่อเรล แอนด์ โรด ทริป (Rail & Road Trip) จากไทยแลนด์ริเวียร่า เพื่อเป็น เอ็นทรี่ แอนด์ เอ็กซิต พอยต์ (Entry and Exit Point) พื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนทะเลสาบสงขลา การท่องเที่ยวที่เป็นมิตรกับชาวมุสลิม (Muslim Friendly Destination)
4.อันดามัน โก กรีน ประกอบด้วย พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง และสตูล เปรียบเสมือนหญิงสาวผู้ชื่นชอบการเข้าสังคม มีชีวิตหรูหรา ดูดี มีระดับหลงใหลในสายลม แสงแดด และหาดทราย เรากำลังพัฒนาการท่องเที่ยวโลว์คาร์บอน ในพื้นที่เขาหลัก เกาะยาวน้อยและเกาะยาวใหญ่ ในพังงา ส่วนภูเก็ต อยู่ระหว่างการดำเนินโครงการยกระดับการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ สู่เมืองท่องเที่ยวระดับโลก ในปี 2028 การจัดตั้งศูนย์สุขภาพเอเชียใต้ในปี 2528 การทำสปอร์ตคอมเพล็กซ์ พื้นที่ 238 ไร่ รวมถึงศูนย์ซ่อมเรือยอชต์ พื้นที่ 1,900 ไร่ มีขนาดใหญ่สุดในอาเซียน
โดยระเบียงเศรษฐกิจเวลเนสอันดามัน ใช้พื้นที่ที่มีศักยภาพสูง ดึงดูดในกลุ่มรักษาพยาบาลเวลเนส ผลิตภัณฑ์สุขภาพ และการศึกษาวิจัย อาทิ คลองท่อมเมืองสปา น้ำพุร้อนเค็ม กระบี่ เป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศที่มีน้ำพุร้อนเค็ม เราจึงใช้ความโดดเด่นด้านทรัพยากรธรรมชาติและระบบนิเวศของจังหวัดกระบี่นี้ พัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ เช่น สปาชายทะเล (บ่อโคลน บ่อผุด) เมืองออนเซ็น พร้อมเชื่อมโยงเส้นทางน้ำพุร้อนอันดามัน คือ ระนอง พังงา กระบี่ ตรัง สตูล เพื่อเป็นเส้นทางเสริมการท่องเที่ยวอันดามัน สร้างจุดดึงดูดใหม่ จากเดิมที่มีแค่ทะเล
ส่วนความคืบหน้าการขยายเวลาเปิดสถานบันเทิงถึง 04.00 น. จากเวลา 02.00 น. เบื้องต้นได้คุยกับกระทรวงมหาดไทยเพื่อแก้พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ของกระทรวงมหาดไทย การแก้ พ.ร.บ.ดังกล่าวไม่ใช่เรื่องยาก แต่อยู่ที่ว่าจะยอมแก้ให้หรือไม่มากกว่า ขณะเดียวกันกำลังรวบรวมข้อมูลวิจัยของปี 2562 จาก 3 สถาบัน ส่งมอบให้กับทางกระทรวงมหาดไทย เพื่อให้เห็นถึงถึงผลดีและผลเสียว่าในพื้นที่ที่จะเปิดนำร่องไม่มีเสียงค้านจากประชาชน โดยจะยื่นเข้าที่ประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบของโรคโควิด-19 (ศบศ.)
จากรายงานผลสำรวจและวิจัย เรื่องเวลาที่เหมาะสมในการปิดสถานบริการเวลา 04.00 น. ในบริเวณถนนคนเดินบางลา ต.ป่าตอง จ.ภูเก็ต พบว่า ช่วงเวลา 03.00-04.00 น. ร้านค้าและสถานบันเทิงยามค่ำคืนสร้างรายได้เฉลี่ยต่อคืนสูงสุดจำนวน 78,450,111 ล้านบาท สำหรับข้อเสนอของผู้ประกอบการในพื้นที่ ได้แก่ 1.พฤติกรรมนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติส่วนใหญ่เลือกออกจากโรงแรมเวลา 23.00 น. เพื่อมาถนนบางลา ได้ใช้เวลาไม่ถึง 2 ชั่วโมง (รวมระยะเวลาเดินทางอีก 30-40 นาที) 2.ไม่สามารถใช้จ่ายในสถานบริการได้หลายที่และนานขึ้นสูญเสียโอกาสด้านรายได้เข้าประเทศมหาศาล เฉลี่ยประมาณ 70 ล้านบาท/วัน เนื่องจากนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ใช้จ่ายในช่วงเวลา 01.00-04.00 น.
ส่วนปัญหาการปิดสถานบริการช่วงเวลา 01.00 น.จะทำให้สูญเสียโอกาสทางรายได้เข้าประเทศกว่า 25,000 ล้านบาทต่อปี จากเวลาจำกัดและพฤติกรรมนักท่องเที่ยวเปลี่ยนไป, มีการกระจายรายได้ไปยังธุรกิจต่อเนื่องน้อยลง เกิดการแย่งกันทำมาหากินที่ผลมาจากประชากรแฝง, เกิดความไม่เป็นระเบียบเรียบร้อยต่อบ้านเมือง มีโอกาสในการเกิดอาชญากรรมจากนักท่องเที่ยวที่ยังไม่กลับไปพักและเดินไปเตร็ดเตร่ตามชายหาดก่อนกลับที่พัก รวมถึงส่งผลกระทบด้านลบไปถึงสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากขยะในเวลาค่ำคืนจากนักท่องเที่ยว ข้อดีของการขยายเวลาเปิดสถานบริการถึง 04.00 น. คือรายได้เข้าประเทศเพิ่มขึ้น มีการกระจายรายได้ การจ้างงานเพิ่มขึ้นการพัฒนาด้านทรัพยากรมนุษย์ดีขึ้น ลดภาระค่าใช้จ่ายทางภาครัฐ เช่น การจัดการขยะ การดูแลรักษาความปลอดภัยให้กับนักท่องเที่ยว
เรื่องการจัดเก็บค่าธรรมเนียมการท่องเที่ยว เป็นการดำเนินภารกิจตามที่กำหนดไว้ใน พ.ร.บ.นโยบายการท่องเที่ยวแห่งชาติ พ.ศ.2551 ผลการศึกษานำไปสู่การกำหนดอัตราค่าธรรมเนียมการท่องเที่ยวที่ 300 บาทต่อคนต่อครั้ง เป็นอัตราเหมาะสม เนื่องจากสามารถแข่งขันได้ อยู่ในระดับเดียวกับประเทศอื่นๆ และไม่เป็นการแทรกแซงตลาดการท่องเที่ยวของประเทศด้วย เงินที่ได้จากการเก็บค่าธรรมเนียมดังกล่าวนั้น จะนำมาใช้เป็นเงินอุดหนุนหรือเงินให้กู้ยืมแก่หน่วยงานของรัฐ เพื่อนำไปใช้ดำเนินงานตามนโยบายหรือแผน ททช. เป็นค่าใช้จ่ายในการช่วยเหลือ หรือสนับสนุนการท่องเที่ยวและเป็นค่าใช้จ่ายในการจัดให้มีการประกันภัยแก่นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเป็นค่าใช้จ่ายในการบริหารกองทุน เชื่อว่าจะมีประโยชน์ในแง่การช่วยลดภาระงบประมาณแผ่นดินในการรักษาพยาบาลและช่วยเหลือเยียวยานักท่องเที่ยวต่างชาติ พัฒนาการท่องเที่ยวของประเทศในทุกมิติผ่านกองทุนเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวไทย อุดหนุนและสนับสนุนการพัฒนาการท่องเที่ยวให้สามารถแข่งขัน รวมถึงสร้างรายได้ให้ประเทศอย่างยั่งยืน
ดังกล่าวนี้ เป็นแผนงานจะต้องเดินหน้า เพื่อให้บรรลุเป้าหมายจำนวนและรายได้ และขับเคลื่อนให้ภาคท่องเที่ยวเติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืน