ภูมิภาค
ผู้ว่าฯสุราษฎร์ตรวจห้องเย็นสต๊อกหมูชำแหละกันกักตุน
วันเสาร์ ที่ 22 มกราคม พ.ศ. 2565, 09.38 น.
ติดตามข่าวด่วน กระแสข่าวบน Facebook คลิกที่นี่
สุราษฎร์ธานี-ผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี นำทีมลงพื้นที่ลุยตรวจสอบสต๊อกห้องเย็นเก็บเนื้อสุกรชำแหละเฝ้าระวังหวั่นผู้ประกอบการกักตุนสินค้า เบื้องต้น ไม่พบการกักตุนสินค้าแต่อย่างใด ระบุหากพบมีการประทำผิดกฎหมายต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี หรือปรับไม่เกิน 140,000 บาท
ที่ศูนย์สต๊อกห้องเย็นเก็บเนื้อสุกรชำแหละของบริษัทเบทาโกร ตั้งอยู่ที่บริเวณถนนกาญจนวิถี ต.บางกุ้ง อ.เมือง จ.สุราษฎร์ธานี นายวิชวุทย์ จินโต ผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี พร้อมด้วย พาณิชย์จังหวัดสุราษฎร์ธานี เกษตรและสหกรณ์จังหวัดสุราษฎร์ธานี ปศุสัตว์จังหวัดสุราษฎร์ธานี รองผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดสุราษฎร์ธานี และ ประชาสัมพันธ์จังหวัดสุราษฎร์ธานี ได้ร่วมลงพื้นที่ตรวจสอบสต็อกสินค้าเนื้อสุกรชำแหละ เนื้อไก่สด ตามประกาศคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการฉบับที่ 2 พ.ศ.2565 เรื่อง การแจ้งปริมาณ ราคา สถานที่เก็บ และ จัดทำบัญชีคุมสินค้าสุกร เนื้อสุกร ณ วันที่ 5 มกราคม พ.ศ.2565 และ ตามพระราชบัญญัติสำรวจการกักตุนโภคภัณฑ์ พ.ศ.2497 โดยมี นายณภัทร ชูสุดรักษ์ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่และเจ้าหน้าที่ให้การต้อนรับ
สำหรับศูนย์ สต๊อกห้องเย็นเก็บเนื้อสุกรชำแหละของบริษัทเบทาโกร ที่ทางคณะ ผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี เข้าตรวจสอบในครั้งนี้พบว่าเป็นศูนย์หลักของ 6 จังหวัดภาคใต้ตอนบน คือ ชุมพร ระนอง สุราษฎร์ธานี กระบี่ พังงา ภูเก็ต และ อ.ทุ่งสง จ. นครศรีธรรมราชการ รวมทั้งหมด 9 จุดบริการ 21 สาขา มีการสต๊อกเนื้อสุกรชำแหละทั้งหมด 200 ตัน หรือ 200,000 กิโลกรัม และ จากการตรวจสอบ(วันที่ 21 ม.ค.2565) มีเนื้อสุกรชำแหละ และ ชิ้นส่วนต่าง ๆรวมทั้งสิ้น 17,288 กิโลกรัม หรือ 17 ตันเศษ ซึ่งทุกวันจันทร์ทางบริษัทจะต้องแจ้งจำนวนสินค้า ที่มีในสต๊อกทั้งหมด ไปยังสำนักงานพาณิชย์จังหวัด ส่วนการขนย้ายทุกครั้งนั้นต้องแจ้งให้สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดทราบก่อนทุกครั้ง
อย่างไรก็ตามจากการสอบถามทราบว่า การเลี้ยงสุกรของบริษัทเบทาโกร จะดำเนินการในระบบฟาร์มปิดทั้งหมด และใช้ลักษณะการจ้างเกษตรกรเลี้ยง โดยเฉลี่ยค่าจ้างตกตัวละประมาณ 600 บาท โดยใน 1 เล้าที่จ้างเลี้ยงนั้นเกษตรกรจะมีสุกรอยู่ประมาณ 750-1,000 ตัว แต่เกษตรกรที่รับจ้างเลี้ยงจะต้องมีเล้าสุกรเป็นของตัวเอง
นายวิชวุทย์ จินโต ผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี กล่าวว่า การตรวจครั้งนี้เพื่อติดตามสถานการณ์โรคระบาดสุกร การเคลื่อนย้ายสัตว์ และ การสต๊อกสินค้า จากการลงพื้นที่ตรวจสอบพบว่า ไม่พบสิ่งผิดปกติ ไม่มีการกักตุนเนื้อหมู ซึ่งการตรวจสอบของทางจังหวัดนั้นจะดำเนินการอย่างต่อเนื่องตามนโยบายของรัฐบาล และ กระทรวงมหาดไทยเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน จึงต้องขอย้ำขอความร่วมมือผู้ประกอบการว่าอย่าได้ฉวยโอกาสขึ้นราคาหมู เพราะจะเป็นการซ้ำเติมความเดือดร้อนให้แก่ประชาชน หากพบว่าผู้ประกอบการรายใดมีการกักตุนหวังผลให้ราคาสูงขึ้น ถือว่าผิดกฎหมายตามพระราชบัญญัติสำรวจการกักตุนโภคภัณฑ์ พ.ศ.2597 จะต้องถูกดำเนินการอย่างเด็ดขาด ทั้งนี้ ได้ แจ้งเตือนให้ผู้ประกอบการห้ามกักตุนสินค้า ขอให้ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ.2542 มาตรา 30 หากฝ่าฝืนอัตราโทษ จำคุกไม่เกิน 7 ปี หรือปรับไม่เกิน 140,000 บาท หรือทั้งจำทั้งจำปรับ ตามมาตรา 41.
ติดตามข่าวด่วน กระแสข่าวบน Facebook คลิกที่นี่