เผยแพร่: ปรับปรุง: โดย: ผู้จัดการออนไลน์
เพียงก้าวแรกเมื่อเดินเข้าสู่อาณาบริเวณ “บ้านอาจ้อ” ก็รับรู้กลิ่นอายความน่ารักของสนามหญ้ารอบๆ และความจัดจ้านฉูดฉาดในการจัดวางองค์ประกอบต่างๆในตัวบ้าน แต่เป็นความรู้สึกจัดจ้านที่ไม่ได้ละทิ้งความเข้มขลังหรือความหมายจากอดีต แต่ทว่าแต้มเติมความร่วมสมัยบางอย่างเข้าไปได้ลงตัว จนอาจกล่าวได้ว่า การรีโนเวทบ้านอายุเกือบร้อยปี ได้เพิ่มพลังให้กับบ้านเก่าแก่กลับมามีลมหายใจที่เต็มไปด้วยชีวิตชีวาอีกครั้ง
ประวัติของบ้านอาจ้อ ต้องย้อนอดีตกลับไปเกือบร้อยปี เริ่มต้นจาก “หลวงอนุภาษภูเก็ตการ” หรือ “นายจิ้นหงวน แซ่ตัน” ชาวจีนอพยพมาทำเหมืองแร่จนเป็นนักธุรกิจร่ำรวย และเป็นต้นตระกูล “หงษ์หยก” หนึ่งในตระกูลดังของจังหวัดภูเก็ต ได้สร้างบ้านเพื่อใช้พักอาศัย และสร้างเสร็จเมื่อปี พ.ศ. 2479 ปัจจุบันย่างเข้าสู่ปีที่ 86 แล้ว
บ้านถูกเรียกว่าตึก “อั้งม้อหลาว” ซึ่งเป็นความหมายของสองคำรวมกัน ได้แก่ อั้งม้อ ที่หมายถึงคนผมแดง (ชาวตะวันตก) หลาว แปลว่าบ้าน ความหมายโดยรวมจึงสื่อถึงบ้านฝรั่ง เพราะเป็นการคัดลอกแปลนบ้านมาจากปีนัง และการก่อสร้างนั้นเริ่มมีสถาปนิกต่างชาติเข้ามาดูแล ทำให้โครงสร้างบ้านกลายเป็นสไตล์ชิโน-ยูโรเปียน หรือ ชิโน-โคโลเนียล งดงามคลาสสิกแบบที่เห็น
บ้านหลังนี้สร้างไว้ในพื้นที่ตำบลไม้ขาว ซึ่งแทบจะเป็นพื้นที่รอยต่อไม่ไกลจากจังหวัดพังงา ด้วยเหตุเพราะนายจิ้นหงวนใช้เป็นบ้านพักอีกแห่งหลังจากกลับจากเหมืองแร่ที่พังงา เพื่อลดระยะเวลาในการเดินทางกลับไปบ้านพักในตัวเมืองภูเก็ตที่ห่างไปไกลราว 40 กิโลเมตร ซึ่งถือว่าไกลมากในยุคนั้น
ต่อมาบ้านถูกส่งมอบให้เป็นเรือนหอของ “คุณณรงค์ หงษ์หยก” ลูกชายคนที่ 5 ที่อาสาอยู่บ้านหลังนี้ เนื่องจากลูกๆคนอื่นมองว่ามีระยะทางไกลจากตัวเมืองมากไป แต่ภายหลังจากหมดยุครุ่งเรืองของอุตสาหกรรมเหมืองแร่ คุณณรงค์ที่เคยใช้บ้านเป็นที่พำนักมายาวนาน 27 ปี ก็ย้ายกลับไปอาศัยในตัวเมือง บ้านเก่าของต้นตระกูลจึงถูกปล่อยไว้ 37 ปี
จนกระทั่งในทายาทรุ่นที่ 4 ผู้เป็นหลาน “สัจจ หงษ์หยก” (รวมทั้งพี่น้องอีกสองคน ได้แก่ “บรรลุ และ สติ หงษ์หยก”) อยากจะสานต่อให้บ้านหลังนี้เป็นเสมือนของขวัญสุดพิเศษมอบให้กับอากงที่พวกเขารัก (คุณณรงค์) จึงเข้ามาบูรณะชุบชีวิตอีกครั้งโดยใช้ชื่อว่า “บ้านอาจ้อ” ซึ่งมีความหมายว่า “คุณทวด” ผู้เป็นเจ้าของบ้านท่านแรก
บ้านเก่าที่ทิ้งร้างมานานต้องใช้เวลาในการรีโนเวทครั้งใหญ่ราว 3 ปี โดยได้นักออกแบบฝีมือดีอย่าง “จุ๋ม อรสา โตสว่าง” มาช่วยเป็นอีกหนึ่งกำลังสำคัญ จนบ้านเก่าร้างกลับมางดงามได้ดังเดิม ทั้งยังเพิ่มเติมความร่วมสมัยของงานศิลปะ ภาพถ่าย ข้าวของเครื่องใช้ การตกแต่งต่างๆที่มอบบรรยากาศคลาสสิกให้กลับมาได้ไม่ต่างจากวันวานเมื่อครั้งคุณณรงค์ยังอาศัยอยู่
ความโดดเด่นของบ้านอาจ้อ จึงไม่ได้เป็นแค่บ้านเก่ารีโนเวทใหม่ แต่มีสถานะเป็นพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นภูเก็ตที่เก็บเรื่องราวจากอดีตของต้นตระกูลเก่าแก่ มีภาพถ่าย ข้าวของเครื่องใช้ ที่ถ่ายทอดให้เห็นวิถีชีวิตของผู้คนยุคเก่าก่อนได้อย่างมีสีสัน บางครั้งก็ใช้จัดนิทรรศการศิลปะที่เข้ากันได้ดีกับตัวบ้าน
นอกจากเนรมิตบ้านเก่าให้ฟื้นคืนชีวิตชีวากลับมาเป็นของขวัญให้อากงที่หลานๆรักแล้ว สถานะของบ้านอาจ้อ ยังดำเนินไปในบทบาทใหม่ตามยุค ด้วยการแบ่งพื้นที่ชั้นบนบางส่วนเป็นที่พักสไตล์บูทีกโฮมสเตย์ที่เจ้าของพร้อมดูแลแขกอย่างเป็นกันเองเสมือนญาติมิตร ตอบโจทย์นักเดินทางที่หลงเสน่ห์กลิ่นอายวินเทจในอดีต
อีกจุดขายสำคัญที่เพิ่มเติม คือ ร้านอาหารที่แยกออกมาอีกอาคารชื่อว่า “โต๊ะแดง” ซึ่งร้านอาหารโต๊ะแดง เป็นร้านที่จำลองบรรยากาศของโรงครัวสไตล์ปีนัง การออกแบบของการสร้างก็เป็นไปตามคติคนจีนยุคก่อน เพราะใช้เป็นสถานที่รับแขกทั่วไปที่แยกจากตัวบ้านหลัก
ส่วนตัวเอกของร้านอาหารที่เสิร์ฟมาบนโต๊ะไม้สีแดงสด คือ เมนูรูปแบบท้องถิ่นภูเก็ต เช่น หมี่กรอบกุ้ง แกงคั่วมอต๊านกุ้งใช้เงาะมาปรุงเป็นแกงเพิ่มรสหวาน หมูฮ้องภูเก็ตเสิร์ฟมาพร้อมโรตี ปลาทอดสมุนไพร หมูสามชั้นทอดน้ำปลา ไข่เกรียมเนื้อปูสด ฯลฯ ซึ่งความอร่อยและคุณภาพของอาหารที่เน้นใช้วัตถุดิบในท้องถิ่น ทำให้โต๊ะแดงเป็นร้านแนะนำโดยมิชลินไกด์ ประเภทบิบ กูร์มองด์ หรือร้านอาหารอร่อยคุ้มค่าในราคาย่อมเยา
ทั้งนี้ บ้านอาจ้อ ทำธุรกิจในรูปแบบไม่เน้นผลกำไรเป็นหลัก รายได้จากที่พัก ร้านอาหาร หรือการเข้าชมพิพิธภัณฑ์ ส่วนหนึ่งนำไปช่วยเหลือเด็กผู้ขาดโอกาสในจังหวัดภูเก็ต ผ่านมูลนิธิบ้านอาจ้อ อีกด้วย
บ้านอาจ้อ
102 หมู่ 3 ถนนเทพกระษัตรี ตำบลไม้ขาว อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต
เปิด 10.00 – 22.00 น. สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม โทร. 062 459 8889
www.facebook.com/BaanArJor
สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ อีเมล์ [email protected] หรือ ชมคลิปต่าง ๆ ได้ที่ Youtube :Travel MGR และ Instagram : @travelfoodonline และ TikTok : @travelfoodonline