วันที่ 20 ก.พ.65 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายสมหวัง เรืองนิวัติศัย รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการพิจารณาคัดเลือกผู้สมควรได้รับเครื่องหมายเชิดชูเกียรติสำหรับผู้ปฏิบัติหน้าที่หรือช่วยเหลือด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ “พิทักษ์ทรัพยากรป่าไม้” ประจำปี พ.ศ. 2565 ครั้งที่ 1 โดยมีคณะกรรมการพิจารณาคัดเลือกฯ และเจ้าหน้าที่ฝ่ายสวัสดิการและเจ้าหน้าที่สัมพันธ์ เข้าร่วม ณ ห้องประชุมชั้น 2 อาคารศูนย์ปฏิบัติการกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2565
ทั้งนี้ ที่ประชุมได้พิจารณาคัดเลือกผู้สมควรได้รับเครื่องหมายเชิดชูเกียรติสำหรับผู้ปฏิบัติหน้าที่หรือช่วยเหลือด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ประจำปี พ.ศ.2565 จำนวน 3 ราย ได้แก่
1.นายสรชัด สุจิตต์ ตำแหน่ง ประธานอนุกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อมและสิทธิสัตว์ และรองประธานคณะกรรมาธิการการที่ดินทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยมีผลงาน การลงพื้นที่ศึกษาดูงานเกี่ยวกับ “การแก้ไขปัญหาช้างป่าออกนอกพื้นที่ป่าอนุรักษ์” ณ จังหวัดฉะเชิงเทรา การศึกษาสภาพปัญหา แนวทางป้องกันและเฝ้าระวังช้างป่าออกนอกพื้นที่ (Elephant Smart Early Warning System) ตำบลคลองตะเกรา อำเภอท่าตะเกียบ ตำบลลาดกระทิง ตำบลท่ากระดาน อำเภอสนามชัยเขต และโครงการพัฒนาภาวะผู้นำสภานักเรียนกับการมีส่วนร่วมอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ณ อุทยานแห่งชาติชายหาดวนกร จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และจังหวัดเพชรบุรี
2.อาจารย์ศศิน เฉลิมลาภ ตำแหน่งประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ผลงาน 1) การจัดการพื้นที่คุ้มครอง คณะผู้ศึกษาจัดทำแผนแม่บทพื้นที่อนุรักษ์เสนอต่อกรมอุทยานแห่งชาติ อุทยานแห่งชาติสิรินาถ (2543), อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะชุมพร (2545), กลุ่มอุทยานมรดกอาเซียนหมู่เกาะสุรินทร์ สิมิลัน อ่าวพังงา (2550), พื้นที่อนุรักษ์ทะเลอันดามันเพื่อเสนอเป็นมรดกโลก (2554) 2) สรุปสถานการณ์ความหลากหลายทางชีวภาพระบบนิเวศป่าไม้ประเทศไทย เสนอต่อองค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ (IUCN) ประเทศไทย (2554) 3) คู่มือการจัดการความขัดแย้งและการมีส่วนร่วมในผืนป่าตะวันตก (2557) 4) รายงานทรัพยากร-ทรัพยากิน ในป่าชุมชนผืนป่าตะวันตก (2557) 5) รายงานพื้นที่ศักยภาพในการทำเส้นทางเชื่อมสัตว์ป่าในผืนป่าตะวันตก เสนอต่อกองทุนสัตว์ป่าโลก (2558) 6) โครงการจัดทำหลักเกณฑ์การประเมินแหล่งซากดึกดำบรรพ์เพื่อการบริหารจัดการ กรณีศึกษาจังหวัดสตูล (2563) 7) สิทธิมนุษยชน รายงานการศึกษาข้อมูลเชิงวิชาการ กรณีปัญหาเหมืองแร่ เพื่อกำหนดข้อเสนอเชิงนโยบาย คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (2546), รายงานการละเมิดสิทธิมนุษยชนปัญหาที่ดิน : พื้นที่ประสบภัยสึนามิ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (2549), การรวบรวมและวิเคราะห์เปรียบเทียบ รายงานตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชนของอนุกรรมการสิทธิในทรัพยากรน้ำ ชายฝั่ง แร่และสิ่งแวดล้อม คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (2552) 8) การกัดเซาะชายฝั่ง การวิเคราะห์ข้อมูลการศึกษาโครงการจัดทำแผนหลักและแผนปฏิบัติการแก้ไขปัญหา การกัดเซาะชายฝั่งของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เพื่อกำหนดมาตรการในการจัดการการกัดเซาะชายฝั่งในระบบกลุ่มหาด เสนอต่อกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (2558), แผนที่การกัดเซาะชายฝั่ง ประเทศไทย เสนอต่อกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (2558), แนวทางการบริหารจัดการเพื่อป้องกัน แก้ไขปัญหากัดเซาะชายฝั่ง ในระบบกลุ่มหาดและกลุ่มหาดย่อยของประเทศไทย เสนอต่อกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (2560), การประมวลสถานการณ์กัดเซาะชายฝั่งปี 2560 เสนอต่อกรมทรัพยากรทางทะเล และชายฝั่ง (2561) องค์ความรู้ธรณีสัณฐานวิทยาเพื่อการจัดการการกัดเซาะชายฝั่ง เสนอต่อ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (2562)
3.นายเจษฎาภรณ์ ผลดี ดารานักแสดง ผลงาน เป็นบุคคลต้นแบบของการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เพราะที่ผ่านมาได้ให้ความสำคัญกับเรื่องของการอนุรักษ์สัตว์ป่า และปัญหาการบุกรุกเผาป่ามาโดยตลอด พร้อมลงพื้นที่ทำงานอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ และประชาสัมพันธ์ผ่านทางเพจ Greencop-Thailand อีกทั้งเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนให้เกิดการจ้างงานเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าจำนวน 3,999 คน