1
นักวิเคราะห์จำนวนไม่น้อยเชื่อว่า การท่องเที่ยวเป็นตัวขับเคลื่อนการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ (tourism led growth) ได้เป็นอย่างดี ผลงานวิจัยตีพิมพ์ในวารสารวิชาการจำนวนหนึ่งยืนยันเช่นนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศขนาดเล็กที่มีแหล่งท่องเที่ยวสวยงามดึงดูดให้คนมาเที่ยวชม แต่สำหรับประเทศขนาดใหญ่หรือปานกลาง (ซึ่งไทยรวมอยู่ในกลุ่มนี้) ผลสรุปอาจไม่ชัดเจน จะอย่างไรก็ตามเศรษฐกิจการท่องเที่ยวของไทยขยายตัวอย่างมาก (ก่อนโควิด-19 ระบาด) วัดจากจำนวนนักท่องเที่ยวไทยและต่างชาติ และอัตราการเข้าพักแรม จนเกิดความคาดหวังว่าการท่องเที่ยวเป็นยุทธศาสตร์การพัฒนาที่เชื่อถือได้ ในโอกาสนี้ขอนำผลงานวิจัยเล็กๆ เชื่อมโยงระหว่างการท่องเที่ยวกับเศรษฐกิจจังหวัดมาเล่าสู่กันฟัง พร้อมชวนให้ขบคิดว่าเราคาดหวังว่าการท่องเที่ยวเป็นตัวขับเคลื่อนการเติบโตของจังหวัดในอนาคตได้มากน้อยเพียงใด
2
กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ได้ประมวลสถิตินักท่องเที่ยวและอัตราการเข้าพักแรมเป็นรายจังหวัด สอดคล้องกับความสนใจของโครงการ ก่อนอื่นขออภิปรายว่า สถิติการท่องเที่ยวโดยเฉพาะอย่างยิ่งจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ (ผ่านกระบวนการ ตม.) และอัตราการเข้าพักแรม (สถานพักแรมมีหน้าที่รายงานข้อมูลและส่งมอบค่าธรรมเนียมให้ อบจ. ตามกฎหมาย) เป็นข้อมูลขนาดใหญ่รายบุคคล ไม่ใช่จากการสุ่มตัวอย่าง ข้อค้นพบประการแรก การท่องเที่ยวมีลักษณะกระจุกตัวสูง คณะวิจัยค้นคว้าตัวเลขเป็นรายละเอียด พบว่าจังหวัดที่รับนักท่องเที่ยวอย่างน้อย 1% ของจำนวนรวมทั้งประเทศ มีจำนวน 19 จังหวัด รวมกันรับนักท่องเที่ยวได้ถึง 74% ของประเทศ ส่วน 58 จังหวัดที่เหลือมีส่วนแบ่งเพียง 26%
รูปกราฟที่ 1 แสดงจำนวนนักท่องเที่ยวไทยและต่างชาติของ 19 จังหวัด 5 อันดับแรกคือ กรุงเทพมหานคร ชลบุรี ภูเก็ต เชียงใหม่ นครศรีธรรมราช
3
นักวิจัยสืบค้นต่อว่า ความสำคัญของนักท่องเที่ยวชาวไทย-ต่างชาติ แตกต่างกันหรือไม่ในแต่ละจังหวัด โดยเสนอผลวิเคราะห์ในรูปกราฟที่ 2 โดยสันนิษฐานว่า ความสำคัญของนักท่องเที่ยวต่างชาติแตกต่างกันหรือไม่? ผลวิจัยยืนยันว่าแตกต่างกันมากทีเดียว จังหวัดที่มีสัดส่วนนักท่องเที่ยวต่างชาติสูงได้แก่ ภูเก็ต ชลบุรี สุราษฎร์ธานี พังงา อีกกลุ่มหนึ่งจังหวัดซึ่งนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่เป็นชาวไทย เช่น นครราชสีมา ชุมพร พิษณุโลก เพชรบูรณ์ ชุมพร เป็นต้น นอกจากนี้ได้ข้อสังเกตนักท่องเที่ยวต่างชาตินิยมเที่ยวภาคใต้และกรุงเทพมหานครมากกว่าภูมิภาคอื่นๆ
4
นักวิจัยพยายามค้นคว้าว่า การท่องเที่ยวมีส่วนส่งเสริมการเติบโตของเศรษฐกิจจังหวัดอย่างไร? (วัดด้วย GPP หรือผลิตภัณฑ์จังหวัด) โดยอิงหลักฐานเชิงประจักษ์ โดยนำตัวแปรจำนวนนักท่องเที่ยวเข้าพักแรมในจังหวัด (hotel occupancy) และจำนวนนักท่องเที่ยวเป็นตัวแปรในแบบจำลอง (กำหนดให้นักท่องเที่ยวเป็น instrumental variable ซึ่งส่งผลต่อจำนวนการเข้าพักแรม) ความหมายคือนักท่องเที่ยวเข้ามาจังหวัดจ่ายเงินส่วนหนึ่งเป็นค่าพักแรม รายจ่ายการเดินทางจ้างมัคคุเทศก์ รายจ่ายบริโภคหรือซื้อข้าวของ ได้ข้อคิดว่า สถิติจำนวนเข้าพักแรมน่าจะเชื่อถือได้มากที่สุดและเป็น “ตัวแทน” ของตัวแปรอื่นๆ (ที่ไม่สามารถระบุตัวเลข) ผลลัพธ์ของการศึกษาจะนำไปเผยแพร่ในวารสารวิจัยหรือวารสารวิชาการในโอกาสต่อไป
จากผลการศึกษาให้ข้อคิดเชิงนโยบายสองประการ ประการแรก การท่องเที่ยวถึงแม้ว่าเป็นกลไกขับเคลื่อนการเติบโตของจังหวัดก็จริงอยู่-แต่ว่ากระจุกตัวสูง จังหวัดอื่นๆ อาจจะต้องทบทวนว่าจะพึ่งการท่องเที่ยวเป็นตัวขับเคลื่อนการเติบโตได้เพียงใด ประการที่สอง ธุรกิจการท่องเที่ยวมีคุณลักษณะอ่อนไหวหรือผันผวนสูงต่อสถานการณ์โรคระบาดหรือเศรษฐกิจซบเซาที่มาจากต่างประเทศ จะมีแนวทางเยียวยาหรือลดความไม่มีเสถียรภาพอย่างไร? ในขั้นต้นมีแนวคิดว่า ถ้ามีกองทุนลดทอนความเสี่ยงก็ดี แต่คำถามคือ เงินทุนจะมาจากแหล่งใด? ภาษีนักท่องเที่ยวถ้ากำหนดในอัตราพอสมควร (ค่าธรรมเนียมเข้าพักแรมซึ่งเป็นรายได้ของ อบจ.อาจจะไม่ใช่คำตอบหรือว่าไม่พอเพียง) เฉพาะคำถามนี้ก็ต้องค้นคว้าวิจัยอย่างลึกซึ้งก่อนจะตัดสินใจ
ส่วนอีกคำถามหนึ่งคือการบริหารจัดการ น่าจะผสมผสานระหว่างภาคเอกชนและภาครัฐ ทำนองเดียวการร่วมลงทุนภาครัฐและเอกชน
ดิเรก ปัทมสิริวัฒน์ – ภาวิณี ชังเภา