กอปภ.ก. ประสาน 6 จว.ใต้ฝั่งตะวันตก รับมือมรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังค่อนข้างแรง ทำน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก คลื่นลมแรง 23-28 พ.ค.
เกาะติดข่าว กดติดตาม ข่าวสด
เมื่อวันที่ 23 พ.ค. 2564 นายบุญธรรม เลิศสุขีเกษม อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ในฐานะผู้อำนวยการกลาง กล่าวว่า กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก) ได้ติดตามสภาพอากาศและพิจารณาปัจจัยเสี่ยง ประกอบกับกรมอุตุนิยมวิทยาได้มีประกาศฉบับที่ 5 (05/2564) แจ้งว่าหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรง บริเวณด้านตะวันออกของอ่าวเบงกอล รวมถึงมรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังค่อนข้างแรงพัดปกคลุมภาคใต้ฝั่งตะวันตกและทะเลอันดามัน
ทำให้บริเวณภาคใต้ฝั่งตะวันตกมีฝนเพิ่มขึ้น และมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางพื้นที่ ขณะที่คลื่นลมในทะเลอันดามันมีกำลังแรง ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 2-3 เมตร และบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองทะเลมีคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร กอปภ.ก.จึงได้ประสาน 6 จังหวัดในพื้นที่ภาคใต้ฝั่งตะวันตกเฝ้าระวัง และเตรียมพร้อมรับมือน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และคลื่นลมแรงในช่วงวันที่ 23-28 พ.ค. แยกเป็น สถานการณ์น้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก
ดังนี้ ระนอง (อ.ละอุ่น และอ.กะเปอร์) พังงา (อ.ตะกั่วป่า และอ.คุระบุรี) ภูเก็ต (อ.เมืองภูเก็ต อ.กระทู้ และอ.ถลาง) กระบี่ (อ.เขาพนม อ.ปลายพระยา และอ.ลำทับ) ตรัง (อ.เมืองตรัง อ.นาโยง อ.ย่านตาข่าว อ.กันตัง อ.ห้วยยอด อ.ปะเหลียน และอ.วังวิเศษ) สตูล (อ.ควนโดน อ.ควนกาหลง อ.มะนัง และอ.ทุ่งหว้า)
นายบุญธรรม กล่าวต่อว่า สถานการณ์คลื่นลมแรง ดังนี้ ระนอง (อ.เมืองระนอง อ.กะเปอร์ และอ.สุขสำราญ) พังงา (อ.เกาะยาว อ.ตะกั่วป่า อ.ตะกั่วทุ่ง อ.คุระบุรี และ อ.ท้ายเหมือง) ภูเก็ต (อ.เมืองภูเก็ต อ.กระทู้ และอ.ถลาง) กระบี่ (อ.เมืองกระบี่ อ.อ่าวลึก อ.เหนือคลอง อ.คลองท่อม และอ.เกาะลันตา) ตรัง (อ.กันตัง อ.สิเกา อ.ปะเหลียน และอ.หาดสำราญ) สตูล (อ.เมืองสตูล อ.ละงู อ.มะนัง และอ.ทุ่งหว้า) รวมถึงสั่งการศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขตในพื้นที่เสี่ยงภัยเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์ภัยในช่วงดังกล่าว
โดยจัดเจ้าหน้าที่ติดตามสภาพอากาศ ปริมาณฝนพร้อมวิเคราะห์ปัจจัยเสี่ยงและแนวโน้มสถานการณ์ภัยต่อเนื่องตลอด 24 ชั่วโมง โดยเฉพาะในพื้นที่เสี่ยงภัย ทั้งที่ลาดเชิงเขา พื้นที่ลุ่มต่ำ พื้นที่ชุมชนเมือง รวมถึงจัดชุดเผชิญสถานการณ์วิกฤต(ERT) รถปฏิบัติการและเครื่องจักรกลสาธารณภัยให้พร้อมเผชิญเหตุและช่วยเหลือผู้ประสบภัยทันที
อีกทั้งประสานหน่วยงานในพื้นที่ อำเภอ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สร้างการรับรู้และแจ้งเตือนประชาชนติดตามพยากรณ์อากาศและประกาศเตือนภัยอย่างใกล้ชิด ตลอดจนประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้มงวดมาตรการความปลอดภัยทางทะเล โดยเพิ่มการติดตั้งสัญญาณแจ้งเตือนภัยบริเวณชายฝั่งทะเลจัดเตรียมเครื่องมือประจำเรือและอุปกรณ์ช่วยชีวิตทางน้ำให้พร้อมใช้งาน อีกทั้งหลีกเลี่ยงการเดินเรือบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง และเรือเล็กควรงดออกจากฝั่ง
ทั้งนี้ ประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากสถานการณ์ภัยสามารถแจ้งเหตุ และขอความช่วยเหลือทางไลน์“ปภ.รับแจ้งเหตุ1784” โดยเพิ่มเพื่อน Line ID @1784DDPM และแอปพลิเคชัน“พ้นภัย” รวมถึงสายด่วนนิรภัย1784 ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อประสานให้การช่วยเหลือโดยด่วนต่อไป