วันพุธที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2564
ปัญหาของภูเก็ตที่ต้องเผชิญมาอย่างต่อเนื่องในฐานะเมืองท่องเที่ยวหลักคือจำนวนประชากรแฝงที่เข้ามาอาศัยอยู่ในภูเก็ตจำนวนหลายแสนคนได้สร้างวิกฤติด้านการจราจรจนกลายเป็นเมืองไม่น่าอยู่ รวมถึงระบบสาธารณูปโภคที่ไม่เพียงพอ หากรัฐบาลไม่เร่งแก้ปัญหาทันทีอาจทำให้สิ่งแวดล้อมเมืองภูเก็ตเป็นพิษ จนนักท่องเที่ยวไม่กล้าไปเยือน “ธนูศักดิ์ พึ่งเดช ประธานหอการค้าจังหวัดภูเก็ต” ฝาก 4 เรื่องด่วนให้รัฐบาลพิจารณา
เร่งที่ 1 สร้างถนนเส้นใหม่แก้ปัญหาจราจร ในช่วงก่อนเกิดโควิด-19 การขนส่งถือเป็นเรื่องวิกฤติสุดๆของภูเก็ต โดยเฉพาะในช่วงชั่วโมงเร่งด่วน รถจำนวน 8.8 หมื่นคันวิ่งอยู่บนถนนเส้นเดียวที่มีระยะทางแค่ 30 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทางไม่ต่ำกว่า 2 ชั่วโมงกว่าจะถึงจุดหมาย ก่อนหน้านี้ได้มีการเสนอรัฐบาลขอให้ออกแบบถนนเส้นคู่ขนานได้ไหม เป็นเส้นคู่ขนานที่เรียกว่าเมืองใหม่เกาะแก้ว ถ่ายรถไปได้ 3 หมื่นกว่าคัน ซึ่งจะทำให้เมืองน่าอยู่ขึ้น อย่างไรก็ตาม การสร้างถนนเส้นใหม่ใช้งบประมาณ 3 หมื่นล้าน เนื่องจากค่าเวนคืนแพง รัฐบาลบอกว่าไม่มีงบประมาณ ให้ใช้วิธีลงทุนร่วมระหว่างภาครัฐและเอกชนหรือ พีพีพี เอกชนเห็นด้วย แต่สุดท้าย คมนาคมโยกมาให้การทางพิเศษแห่งประเทศไทยดำเนินการ ออกแบบเป็นถนนแนวใหม่คล้ายๆกับถนนมอเตอร์เวย์กรุงเทพฯ-ชลบุรี เราก็เห็นด้วย แต่ขอให้ทำทันที ซึ่งถ้าทำทันทีมีเอกชนประมูลแน่นอน เพราะว่ามีรถที่จะใช้บริการอยู่แล้วตั้ง 8.8 หมื่นคัน ถ้าแบ่งมา 3-4 หมื่นคันก็คอนโทรลต้นทุนได้ ดังนั้นจึงอยากให้รัฐบาลทำทันที
เรื่องที่ 2 สร้างอุโมงค์ป่าตอง อันนี้เขาทำอยู่แล้ว แต่เราก็บอกไปว่าในเมื่อดำริของรัฐมนตรีมีความประสงค์จะทำอยู่แล้วก็ขอให้เร่งทำให้เร็วที่สุด
เรื่องที่ 3 รถไฟฟ้ารางเบา (Tram) ซึ่งไม่เหมือนรถไฟฟ้าในกรุงเทพฯ แต่เป็นรถไฟฟ้าที่วิ่งอยู่บนนถนน ลองนึกภาพว่าออกจากสนามบิน ขึ้นรถไฟที่วิ่งผ่านเมืองภูเก็ต แวะตรงนั้นตรงนี้ได้ตลอดทาง และเมืองภูเก็ยสวยทั้งเกาะ จอดตรงไหนก็มีทะเล แวะเที่ยวตรงไหนก็มีร้านอาหาร ถ้ามีบัตรโดยสารราคา 200 บาทแล้วเที่ยวได้เกือบทั้งเกาะ ใครก็อยากมา เพราะว่าเดินทางสะดวก ราคาถูก ขึ้นลงง่าย มีสถานีเป็นระยะๆ กลายเป็นเมืองน่าอยู่ รถยนต์ก็จะน้อยลง รถมอเตอร์ไซค์ก็จะน้อยลง เอาแค่นักเรียน วันนี้ภูเก็ตมีนักเรียนที่นั่งรถโดยสารทุกวันประมาณ 1.2 หมื่นคน พ่อแม่พี่น้องมุ่งไปส่งโรงเรียนทุกวัน ถ้าเขาไปส่งแค่สถานีรถไฟดีกว่าไหม กลายเป็นสวรรค์เลย ทุกคนไม่ต้องวิ่งเข้าเมือง เด็กมีความสุข รถไม่ติด เมื่อเป็นเมืองน่าอยู่ คนก็อยากมา ท่องเที่ยวก็โต ธุรกิจเกี่ยวเนื่องกับท่องเที่ยวก็โต รายได้ก็กลับเข้ามา ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ เพราะฉะนั้นรถไฟฟ้ารางเบาต้องมา ทุกอย่างเขียนไว้หมดแล้ว ออกจาก สนข.ไปอยู่ที่ รฟม.แล้ว รอ ครม.อนุมัติ เป็นการลงทุนในรูปแบบพีพีพี แต่ต่อมา รมว.คมนาคมแนะนำว่าถ้าทำรถไฟฟ้ารางเบาล้อยางจะถูกกว่า เราก็เข้าใจ รถไฟฟ้ารางเบาล้อเหล็ก 3.5 หมื่นล้าน เปลี่ยนเป็นล้อยางเหลือ 1.8 หมื่นล้าน เราก็โอเคนะ แต่ถ้าต้องกลับไปศึกษาใหม่อีก 6 ปีมันจะยังเป็น 1.8 หมื่นล้านหรือเปล่า ก็ต้องกลายเป็น 2.5 หมื่นล้าน ผมถึงบอกว่าทำแบบไหนก็ได้ แต่ต้องทำทันที ถ้าทำทันทีเรารับได้ ถ้าเปลี่ยนเป็นล้อยางเสร็จพร้อมกันคือปี 69 โอเคเปลี่ยนเลยไม่มีปัญหา แต่ถ้าศึกษาใหม่อีก 6 ปีเสร็จช้ากว่าปี 69 ไปอีก 6 ปี ถึงวันนั้นประชาชนจะเป็นเท่าไหร่ ความจริงเงินลงทุนที่ต่างกันหมื่นกว่าล้านไม่น่าจะมีปัญหา เพราะเป็นการลงทุนแบบพีพีพี เอกชนลงทุนลงก่อสร้างไปก่อน เสร็จเมื่อไหร่รัฐค่อยจ่ายในส่วนของรัฐ
เรื่องที่ 4 “น้ำ” ถ้านำน้ำประปาจากพังงามาภูเก็ตได้เพียงพอ ภูเก็ตจะอยู่ไปได้อีก 15 ปี สร้างรายได้เพิ่มขึ้นอีกแสนล้านแน่นอน ทุกวันนี้ภูเก็ตใช้น้ำจากภูเขาที่เก็บไว้ในอ่างเก็บน้ำ ซึ่งมีปริมาณจำกัด แต่ถ้าต่อท่อจากพังงาเราก็จะได้น้ำจากพังงาด้วย หลักการเดียวกับสิงคโปร์ซื้อน้ำจากมาเลเซีย ปัจจุบันมีแผนแล้ว แต่ว่ายังไม่เข้า ครม. ประกอบกับการเจรจาที่ไม่เข้าใจกัน อย่างช่วงแรกเราจะเอาน้ำจากพังงาเข้ามาคนพังงาก็ไม่ให้ เพราะคนพังงาคิดว่าจะทำน้ำไปให้คนภูเก็ตทำไม เพราะว่าเราไม่เจรจากับเขาให้ชัดเจน ปัจจุบันเริ่มคุยกันรู้เรื่องว่าถ้าระบบน้ำในพังงาเหลือใช้ค่อยขายให้ภูเก็ต ถ้าไม่เหลือก็ไม่ต้องขายให้ คนพังงาเริ่มเข้าใจ นี่คือโจทย์การทำงานในท้องถิ่น ต้องอาศัยคนท้องถิ่นช่วยคิดช่วยจัดการ ไม่อย่างนั้นก็มีแค่วิธีคิด แต่จัดการไม่ได้ น่าเสียดาย