YEC หอการค้าพังงาผุดไอเดีย แปลงขยะ “เปลือกมังคุด” เหลือทิ้ง สกัดสาร “แซนโทน” ทำผลิตภัณฑ์ใหม่ “สเปรย์ป้องกันสิว” จากการใส่หน้ากากอนามัย หรือหน้ากากผ้า ตอบโจทย์ผู้บริโภคในช่วงโควิด-19 ในชื่อ Cleaniplex Xanthone Cleansing Spray
ด้วยต้นทุนหลักแสนบาท หวังลดเปลือกมังคุดเหลือทิ้งในพังงาปีละกว่า 10 ตัน และดันเป็นของฝากเมืองพังงา ส่งออกตีตลาดต่างประเทศ เผยอนาคตเล็งนำ “ข้าวไร่ดอกข่า” สินค้า GI ของพังงาทำเป็นสบู่ โดยใช้นวัตกรรมสร้างมูลค่าเพิ่มให้สินค้าเกษตร
นายวัชระ พรหมพันธุ์ ประธาน YEC หอการค้าจังหวัดพังงา เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ปัจจุบันจังหวัดพังงามีผลผลิตมังคุด 7,000-8,000 ตัน/ปี ช่วงต้นฤดูผลไม้ราคาจะสูง แต่พอช่วงปลายฤดูกาลราคาปรับตัวลดลงอยู่ที่ 8-9 บาท/กิโลกรัม
ประกอบกับในปี 2563 จีนรับซื้อมังคุดจากไทยลดลง ทำให้ชาวบ้านต้องนำมังคุดมาแปรรูป เช่น มังคุดกวน ทอฟฟี่มังคุด ทำให้เปลือกมังคุดถูกทิ้งมากกว่า 10 ตัน/ปี จึงมีแนวคิดอยากนำเปลือกมังคุดที่เหลือทิ้งเหล่านี้ไปทำให้เกิดประโยชน์
เพื่อลดปริมาณขยะทางการเกษตร จึงได้ทำการวิจัยร่วมกับมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ จังหวัดนครศรีธรรมราช และพบว่าในเปลือกมังคุดมีสารสำคัญกลุ่มแซนโทน (xanthones) เป็นสารสกัดธรรมชาติที่มีคุณสมบัติในการฆ่าเชื้อแบคทีเรีย ลดการอักเสบของผิว
ทำให้เซลล์ผิวคงตัวและกระชับรูขุมขน จึงได้คิดค้นเป็นสเปรย์ป้องกันการเกิดสิวจากการใส่หน้ากากอนามัยหรือ “สิวหน้ากาก” ถือเป็นการตอบโจทย์ผู้บริโภคในช่วงโควิด-19 ที่จำเป็นต้องใส่หน้ากากอนามัยอยู่ตลอดเวลา
“เราเริ่มทำโครงการวิจัยประมาณเดือนพฤษภาคม 2563 โดยเปลือกมังคุดตากแห้ง 30 กิโลกรัม สามารถสกัดสารแซนโทนบริสุทธิ์ออกมาได้ 1 กิโลกรัม ราคาประมาณ 10,000 บาท/กิโลกรัม
การผลิตสเปรย์ 1 ขวด ใช้สารแซนโทนบริสุทธิ์เพียง 1 มิลลิกรัม/ขวด และเราได้ไปให้ความรู้กับเกษตรกรว่า ต่อไปเปลือกมังคุดไม่ต้องทิ้งให้นำมาขายกับเราได้ แต่จะต้องเอาเปลือกนอกออก
และตากแดดให้แห้ง ทางเราจะรับซื้อจำนวนมากในราคากิโลกรัมละ 5 บาท เราใช้เวลาวิจัยคิดค้นประมาณ 5-6 เดือนก็สำเร็จด้วยต้นทุนหลักแสนบาท
ที่สำคัญเป็นการช่วยลดของเสียในจังหวัดพังงาและเพิ่มรายได้ให้เกษตรกรในพื้นที่ นอกจากนี้ยังมีจุดประสงค์เพื่อจุดประกายให้เกิดผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ที่จะเป็นการช่วยเพิ่มมูลค่าของทิ้ง
ทั้งนี้ต้องเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าก้าวกระโดดและมีความแตกต่างจากคนอื่น เท่าที่สำรวจในตลาดยังไม่พบสเปรย์แนวป้องกันสิวออกจำหน่าย หากในอนาคตการท่องเที่ยวฟื้นตัวกลับสู่สภาวะปกติ
สเปรย์ป้องกันสิวตัวนี้จะกลายเป็นของฝากของจังหวัดพังงาอีกหนึ่งอันที่ขายได้ทั้งตลาดภายในประเทศ และตลาดส่งออก” นายวัชระกล่าวและว่า
การผลิตสเปรย์ในช่วงเริ่มต้นได้ว่าจ้างบริษัท เอสเธติค พลัส จำกัด จ.นครปฐม ซึ่งถือเป็น 1 ใน 4 โรงงานผลิตเครื่องสำอางที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย เป็นผู้ผลิต และจัดหน่ายโดยบริษัท แอดส์ แดดดี้ จำกัด จ.สมุทรปราการ ภายใต้ชื่อผลิตภัณฑ์ Cleaniplex Xanthone Cleansing Spray ผ่านเพจ Facebook
โดยตัวผลิตภัณฑ์ทำเป็นลักษณะกล่องสเปรย์พลาสติกขนาดพกพา น้ำหนัก 16 มิลลิกรัม ราคา 189 บาท โดยวิธีการใช้เพียงแต่ฉีดสเปรย์ลงบนหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้า 1 ขวดใช้ได้ประมาณ 200 ครั้ง/ขวด โดยเริ่มวางจำหน่ายไปช่วงปลายเดือนตุลาคม 2563 ซึ่งได้รับการตอบรับที่ดี
นายวัชระกล่าวต่อไปว่า ปัจจุบันยอมรับว่าการสกัดสารแซนโทนออกมาโดยใช้ตัวทำละลาย (solvent based) ยังประสบปัญหาหลังการสกัด เนื่องจากเกิดการปนเปื้อน เช่น มีน้ำตาลปนออกมากับสารแซนโทน ซึ่งจำเป็นต้องนำน้ำตาลออก
เพื่อให้ได้แซนโทนบริสุทธิ์เป็นการเพิ่มขั้นตอนในการทำงาน ทางโครงการจึงได้มีการทดลองใช้วิธีการสกัดโดยการใช้คลื่นไมโครเวฟ (microwave-assisted exraction หรือ MAE) ร่วมกับตัวทำละลาย ทำให้แซนโทนระเหยออกมา ซึ่งวิธีการนี้จะให้ความเข้มข้นดีกว่า แต่ต้นทุนในการผลิตค่อนข้างสูง ราคาเครื่องอยู่ที่ 10 ล้านบาทต่อเครื่อง
นอกจากนี้ยังมีปัญหาในเรื่องต้นทุนการผลิต เนื่องจากการขนส่งเปลือกมังคุดจากพังงาไปสกัดในโรงงานที่จังหวัดนครปฐมมีต้นทุนค่าขนส่งแพงกว่าการซื้อสารสกัดแซนโทนบริสุทธิ์ 2 เท่า แต่หากซื้อสารสกัดจากที่อื่น ปริมาณขยะในพื้นที่จังหวัดพังงาจะไม่ลดลง
นายวัชระกล่าวต่อไปว่า นอกจากการคิดค้นเรื่องเปลือกมังคุดที่เหลือทิ้งให้เกิดประโยชน์แล้ว ได้มีการวางแผนทำวิจัยโครงการทำสบู่จากข้าวดอกข่าหรือข้าวไร่ดอกข่าร่วมกับมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ จังหวัดนครศรีธรรมราช โดยข้าวดอกข่าหรือข้าวไร่ดอกข่า
ถือเป็นข้าวพันธุ์พื้นเมืองของจังหวัดพังงา มีลักษณะเด่นมีสารต้านอนุมูลอิสระมากที่สุดในข้าวไทย โดยเฉพาะในรำข้าวที่เกษตรกรตัดทิ้ง
ซึ่งสารต้านอนุมูลอิสระมีสรรพคุณในการลดรอยเหี่ยวย่นของผิวหนังได้ดี นอกจากนี้ยังมีการวางแผนที่จะสกัดรำข้าวของข้าวไร่ดอกข่า นำสารที่เข้มข้นขึ้นเพื่อทำเป็นเซรั่ม ซึ่งเป็นแผนในอนาคตที่วางไว้ร่วมกับมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ยังอยู่ในขั้นตอนการทดลอง
อย่างไรก็ตาม เมื่อต้นปี 2563 กรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ได้ขึ้นทะเบียนข้าวไร่ดอกข่าเป็นสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) ของจังหวัดพังงา ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ พ.ศ. 2546